บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เรื่องเล่าจากสึนามิ

เรื่องเล่าจากสึนามิ
โสภณ เปียสนิท
.....................................

                ห้าโมงเช้าของวันที่ 25 มกราคม 2548 สาววัยใสในชุดธรรมดาทั่วไปยกมือสวัสดีตรงหัวมุมบันได ขณะที่ผมกำลังจะกลับขึ้นชั้นสองสู่ห้องทำงาน ด้วยสัญชาติญาณ ผมยกมือตอบรับพร้อมยิ้มให้และทักทายด้วยประโยคที่เป็นกลาง ๆ เป็นอย่างไรบ้าง สบายดีนะ เพราะไม่แน่ใจว่าเธอจะใช่ศิษย์หรือไม่? รู้สึกคลับคล้ายคลับคลา เธอตอบว่า สบายดีค่ะ แล้วมาทำอะไรวันนี้ ผมเริ่มหาข้อมูลเพิ่มเติม เธอตอบว่า มาขอเอกสารหลักฐานค่ะ เอาไปทำอะไรอีก เธอตอบว่า อันเก่าไปกับสายน้ำสึนามิแล้ว

                ได้ผลครับคำตอบท้ายสุดที่เธอให้ มีผลสำคัญมากกว่าสิ่งที่ผมคาดว่าจะได้รับ นั่นก็คือ แรกทีเดียวต้องการรู้เพียงว่าเธอเป็นศิษย์รุ่นไหน เก่าหรือใหม่ แต่คำตอบนี้ทำให้ผมรู้ว่า เธอเป็นศิษย์รุ่นเก่าที่จบไปแล้ว และเธอได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมวันที่ 26 ธันวาคม 2547 กับเขาด้วย

                เชิญเธอสนทนาต่อที่สำนักงานทันที ทั้งที่มีงานอื่นรออยู่อีกมาก ข้อมูลจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นควรบันทึกไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้จดจำและเรียนรู้
                เธอชื่อ ประเทืองศรี แต้มเพชร นักศึกษาสาขาวิชาเอก ภาษาอังกฤษธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตวังไกลกังวล รับปริญญาเมื่อปี  2544 แล้วกลับบ้านที่นครศรีธรรมราช พักผ่อนอยู่บ้านไม่นานนัก ชีวิตเริ่มพเนจรอีกครั้ง เธอได้งานทำที่ร้านอาหาชื่อ อุทยานอาหารไทยนาน ซึ่งเป็นร้านที่ใหญ่ที่สุดในภูเก็ต สี่แยกบายพาส ตรงข้ามห้างเซ็นทรัล ตำแหน่งเรียกแขกเข้าร้าน มีรายได้รวม ๆ แล้ว ราว 7000 บาทต่อเดือน นับว่าพออยู่พอกิน

                บุญหรือกรรมกันเล่าที่ขีดชะตาชีวิตคน สองเดือนก่อนเกิดโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญ พี่นงคราญ แม่ครัวที่เธอคุ้นเคยได้ออกไปทำงานที่พีพี ปริ้นเซส ซึ่งเป็นบังกะโลและร้านอาหารกลับมาชักชวนเธอให้ไปทำงานด้วย เพราะมีเงินดีกว่าที่ทำอยู่เดิมมาก เธอและเพื่อนอีกสองคน เห็นคล้อยตามกันว่าจะไปด้วยกัน

                ที่ทำงานแห่งใหม่ พีพี ปริ้นเซส มีบังกะโล 150 หลัง หนึ่งหลังพักสองคนบ้าง สี่คนบ้าง ตั้งอยู่ริมชายหาด ฝั่งตรงข้ามท่าเทียบเรือ กล่าวกันว่าเป็นมุมที่มีทัศนียภาพสวยที่สุดของเกาะพีพี เธอยังคงรับหน้าที่ในตำแหน่งเดิมคือ ฝ่ายต้อนรับ หน้าที่ที่ทำมากกว่าชื่อตำแหน่ง เพราะต้องต้อนรับ จัดโต๊ะ ตรวจสภาพอาหาร ตรวจป้ายชื่ออาหาร เป็นต้น บางครั้งบางทีพนักงานเช็ดจานเช็ดโต๊ะไม่พอ เธอก็ต้องรับผิดชอบเข้าไปด้วย
            เดือนแรกคือเดือนพฤศจิกายนได้รับเงินรวมแล้วราว ๆ 14000 บาท เธอฝันหวานถึงอนาคตอันสดใสกาววาวขึ้นมาทันที คงมีเงินทำอะไรต่ออะไรได้หลายอย่างที่ปรารถนาในเวลาอันไม่นาน รุ่นพี่ที่มาอยู่ก่อนคนหนึ่งชอบนำเงินมาเก็บไว้ใต้ที่นอน เธอมักเย้าเล่นว่า นอนบนกองเงินกองทอง และเธอเองก็หวังว่าจะมีเงินเหมือนรุ่นพี่เขาบ้างในไม่ช้า...

                เดือนที่สอง วันที่ 25 ธันวาคม 2547 เป็นวันคริสมาส เธอเชียร์แขกด้วยความสนุกสนาน เพราะแขกมากย่อมหมายถึงเงินค่าบริการ (ทิป) ที่มากขึ้นตามไปด้วย แขกที่ผ่านมาที่ร้านต่างร่วมงานรื่นเริงอย่างสนุกสนานทั้งไทยและเทศ แน่นอนวันรุ่งขึ้นเป็นวันพักผ่อน การพักผ่อนย่อมยาวนานกว่าวันธรรมดา ไม่มีใครรู้ว่าเป็นการพักผ่อนตลอดกาลสำหรับบางคน

                ราวแปดโมงเช้าเกิดแผ่นดินไหว เธอมารู้เอาตอนเก้าโมงสี่สิบห้าหลังเข้าทำงานแล้ว เหตุการณ์อื่น ๆ ยังเป็นไปเหมือนที่เคยเป็น วงจรแห่งชีวิตเดิมเริ่มกลับมา เช็ดจาน ตรวจความพร้อมโต๊ะเก้าอี้ พูดคุยกระเซ้าเย้าแหย่เพื่อนร่วมงานคนนั้นคนนี้

                10.10 น. เพื่อนร่วมงานหญิงคนหนึ่งอยู่แผนกบาร์เทนดี้เห็นน้ำหายไปอย่างรวดเร็ว แปลกใจอย่างที่สุดจึงตะโกนบอกเพื่อนพ้องให้ดู เธอเองก็ร่วมดูกับเขาด้วยเช่นกัน ภาพที่เห็นคือทะเลหายไป ชายหญิงชาวต่างชาติสองคู่เดินริมหาด เด็กเล็กสองสามคนวิ่งจับปลาบนทราย
                ไม่นานจากนั้น เธอมองเห็นน้ำสีโคลนพุ่งวาบกลับสู่หาดอย่างรวดเร็วจนตื่นตะลึง วิบหนึ่งแห่งสติกลับคืนมา เธอตะโกนสุดเสียงเรียกเด็กให้หนีจากหาดทราย เพื่อนชายคนหนึ่งได้สติก่อนจับแขนเธอพร้อมตะโกนเสียงดัง วิ่ง เมื่อน้ำอยู่ห่างออกไปราว 100 เมตรเท่านั้น มุ่งหน้าสู่โรงอาหาร ก็ไม่รู้ว่าวิ่งไปตรงนั้นทำไมวิ่งไว้ก่อนเท่านั้น ระหว่างบังกะโลและโรงอาหารมีต้นไม่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราวหนึ่งฟุต ชั่ววิบเดียวเธอขึ้นไปอยู่บนต้นไม้แล้ว

                มองย้อนกลับไปที่ชายหาด น้ำโคลนยังคงทะลักมากับเกลียวคลื่นไม่ขาดสาย เศษซากสังกะสี ไม้กระดาน กระป๋อง ต้นไม่ กิ่งไม้ สินค้า ฝาบ้าน จิปาถะลอยมากลับสายน้ำผ่านใต้ต้นไม้ที่เธอนั่ง มองข้าง ๆ และข้างบน พบว่าต้นไม้เล็ก ๆ ที่ช่วยชีวิตเธอและเพื่อนยังช่วยชีวิตผู้อื่นอีกสามคน รวมห้าคน
            คลื่นโคลนยังต่อเนื่อง เพื่อนร่วมต้นไม้คนหนึ่งปีนสูงขึ้นไปด้วยความตกใจ แต่กลับตกลงมา ดีแต่ว่าช่วยกันจับตัวไว้ได้ จึงไม่หล่นลงไปในน้ำเชี่ยวกลางคลื่น

                เรือเร็วลำหนึ่งลอยมากับกระแสคลื่นกระแทกต้นไม้ใหญ่แตกหักไม่ห่างออกไปนัก ปลาหลายตัวกระโดดดิ้นกลางดินยามคลื่นหยุด บางคนอยู่บนต้นมะพร้าวตะโกนโหวกเหวกบอกข่าวเมื่อเห็นคลื่นใหญ่ทยอยเข้าสู่ฝั่ง บางคนอยู่บนตัวอาคารอาวุโส หรืออาคารสำนักงานที่เหลือแต่ชั้นบน
                ราวครึ่งชั่วโมงแห่งความโหดร้ายทารุณของกระแสคลื่นถาโถมถั่งท้นระลอกแล้วระลอกเล่า เวลาแต่ละนาทีค่อย ๆ คืบคลานผ่านไปอย่างเนิ่นช้า ในความรู้สึกเหมือนหนึ่งว่านานนับกัปกัลป์ ด้วยความตื่นเต้น ทั้งห้าชีวิตยังคงเกาะอยู่บนกิ่งไม้สูงราวสองวาไม่ยอมลง ภาพเบื้องล่าง ทั้งไกลและใกล้ มีโศกนาฏกรรมแห่งชีวิตให้มองเหมือนหนังเรื่องยาว

หญิงชาวญี่ปุ่นวัยกลางคนตามหาสามีในอาการตระหนกสุดขีด เดินไปร้องไห้คร่ำครวญไปตะโกนเรียกชื่อสามีไปจนเสียงแหบแห้ง ฝรั่งสองคนลงจากตึกมาช่วยเธอขุดคุ้ยพื้นเศษซากที่ทับถม เหมือนโชคช่วยหรือชะตาไม่ถึงฆาต เธอสังเกตเห็นร่างสามีเธอในสภาพหมดสติใต้ซากปรักหักพัง ต่างช่วยกันขุดคุ้ยจนสามารถนำร่างนั้นขึ้นตึกไปปฐมพยาบาลกันต่อไป   

            ระหว่างเวลาที่ผ่านไป ทั้งห้าคนปรึกษาหารือเรื่องหาที่ที่ปลอดภัยกว่าเดิมอยู่ตลอดเวลา ในที่สุดได้ข้อสรุปว่าต้องหาชัยภูมิใหม่ที่ดีกว่า จึงลงจากต้นไม้แห่งชีวิต ไต่ลัดเลาะไปบนรั้วข้ามหลังคาบังกะโลที่เหลือแต่เสากับหลังคา ตึก และผ่านต่อไปอยู่ที่ดาดฟ้าอาคารขนาดใหญ่สูงหกชั้น ของ พีพีโฮเตล สภาพที่พานพบระหว่างนี้คือภาพแห่งความน่าเวทนามีแต่การค้นหาและเสียงร้องระงมไปทั่ว

                คลื่นแห่งข่าวลือยังคงทยอยมาเป็นระลอกเหมือนคลื่นทะเล มีเสียงตะโกนบอกต่อกันว่าคลื่นจะมีอีกตอนนั้น เดี๋ยวจะมาตอนนี้ จนหาความแน่นอนไม่ได้ว่าจริงหรือเท็จ เธอและเพื่อนปรึกษากันว่าจะไปที่วิวพ้อยท์ ซึ่งอยู่บนเขาสูงแต่ค่อนข้างไกล แต่ต้องเตรียมความพร้อมด้วย สองคนช่วยกันหยิบฉวยอาหารของที่กินได้ระหว่างทางผ่านได้ขนมกรุบกรอบมาสองสามถุง ผ้าขนหนึ่งผืน กางเกงยีนหนึ่งตัว ผ้าอนามัยอย่างดีหนึ่งชุด และน้ำโซดามะนาวอีกหนึ่งขวด ทั้งกลุ่มชวนกันวิ่งขึ้นเขาวิวพ้อยท์ที่มีบันไดสามร้อยกว่าขั้นอย่างรวดเร็ว

                บนเขามีผู้คนมากมายหลบน้ำมาพึ่งบกเหมือนกับเธอและเพื่อน ๆ ท่ามกลางความไม่พร้อม ความหนาวเย็นแห่งค่ำคืนนี้ จึงหนาวเหน็บเจ็บเนื้อได้มากกว่าความหนาวเย็นในคืนอื่น ๆ หลายเท่า หลายคนช่วยกันหาฟืนมากองสุมกันเป็นกองโตแล้วจุดไฟ เรื่องเล่ารอบกองไฟในคืนนี้ช่างเหมือนกับนิทานรอบกองไฟจากค่ายลูกเสือในวัยเด็ก ต่างแต่ว่าเรื่องที่เล่าและเปลี่ยนกันเป็นประสบการณ์ที่เพิ่งจะได้เห็นสด ๆ ร้อน ๆ ทุกคนไม่มีใครยอมเลิกรา และไม่ยอมหลับนอน เพราะถึงนอนก็นอนไม่หลับ ราวตีสามกว่า ๆ หน่วยแพทย์อาสาจากนครศรีธรรมราชเดินทางมาถึง และช่วยปฐมพยาบาลผู้ที่บาดเจ็บได้จำนวนมาก
ห้าโมงเช้าของวันใหม่เธอตัดสินใจกลับลงไปดูที่ทำงาน เพราะเป็นห่วงทรัพย์สินเล็ก ๆ น้อย ๆ พร้อมเอกสารสำคัญ เป็นไปตามที่คาดไว้ ไม่มีสิ่งใดเหลือเหลืออยู่เลย เดินดูแล้วเหมือนว่าไม่ใช่ที่ที่เธอคุ้นเคย ร่างไร้ลมหายใจของผู้จัดการเบียดติดกับโคนต้นมะพร้าวไม่ไกลนัก ผู้ช่วยพ่อครัวเสียชีวิตไปอีกสองคน เด็กเช็ดจานทำงานครัวตายสามคน คนแก่ล้างจานสามคน พ่อครัวหนึ่งคน ส่วนสถานที่นั้น ตึกสำนักงานและหอพักสองชั้น ชั้นล่างหายไปทั้งสองหลังชั้นบนไม่ได้รับผลกระทบ เหมือนอยู่ปกติ บังกะโล 150 ห้อง หอพักอีกหนึ่งหลัง หายไปทั้งหมดเหมือนไม่เคยมี

เธอตัดสินใจพาชีวิตที่เหลืออยู่ขึ้นเรือไปจังหวัดกระบี่ โชคดีพี่สะใภ้มารอรับอยู่แล้ว จึงเดินทางกลับบ้านที่นครศรีธรรมราชด้วยความปลอดภัย สองสามวันต่อมา ทางเจ้านายเก่าโทรมาแจ้งว่าจะได้รับค่าชดเชย 2000 บาท และเงินเดือนสุดท้ายอีก 2000 บาท พร้อมขอให้เห็นใจอย่าได้เรียกร้องอะไรอีกเลย เธอน้อมรับด้วยความยินดี อย่างน้อยชีวิตที่รอดกลับบ้านก็มีค่าเหนือกว่าสิ่งใด

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

sopon's lifeandwork: มหาวิทยาลัยราชมงคล

sopon's lifeandwork: มหาวิทยาลัยราชมงคล: "“ มหาวิทยาลัยราชมงคล ” โสภณ เปียสนิท ......................................... ราชมงคลวังไกลกังวล เป็นส่วนหนึ่งของหัวหิน ..."

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

sopon's lifeandwork: มหาวิทยาลัยราชมงคล

sopon's lifeandwork: มหาวิทยาลัยราชมงคล: "“ มหาวิทยาลัยราชมงคล ” โสภณ เปียสนิท ......................................... ราชมงคลวังไกลกังวล เป็นส่วนหนึ่งของหัวหิน ..."

sopon's lifeandwork: ล่องเมืองใต้

sopon's lifeandwork: ล่องเมืองใต้: "ล่องใต้ โสภณ เปียสนิท ................... คำว่า “ เมืองใต้ ” ค่อนข้างจะอยู่ห่างไกลความรู้สึกของผม แม้ว่าเมื่อครั้งบวชเรียนที่มหาวิทยาลัย..."

วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

sopon's lifeandwork: ลีลาชีวิตแห่งดวงดาว4

sopon's lifeandwork: ลีลาชีวิตแห่งดวงดาว4: "ลีลาชีวิตแห่งดวงดาว-4 โสภณ เปียสนิท ........................... เธอยิ้มกว้าง “อากาศดี มหาวิทยาลัยดี ที่พักดี มีแฟนดี” “แสดงว่าประทับใจ” “ใช..."

sopon's lifeandwork: เวลาที่ผ่านเลย

sopon's lifeandwork: เวลาที่ผ่านเลย: "เวลาที่ผ่านเลย โสภณ เปียสนิท ......................................... ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน ผมจำเป็นต้องขอเว้นวรรคการเล..."

เวลาที่ผ่านเลย

เวลาที่ผ่านเลย

โสภณ เปียสนิท
.........................................

                ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน ผมจำเป็นต้องขอเว้นวรรคการเล่าประสบการณ์ชีวิตในประเทศอินเดียไว้สักตอนหนึ่งก่อน เพราะครั้งหน้าที่ท่านจะได้อ่านบทความนี้ เป็นช่วงเวลาขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่งแล้ว

                สี่ทุ่มสี่สิบห้านาทีของคืนวันที่ 26 ธันวาคม 2545 ผมเพิ่งกลับจากการร่วมสังสรรค์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กับเพื่อนร่วมราชมงคลวังไกลกังวล พรุ่งนี้วันที่ 27 เป็นวันทำงานวันสุดท้ายของปี ต่อจากวันพรุ่งนี้ผมตั้งใจว่าจะพาครอบครัวเล็ก ๆ เดินทางกลับไปร่วมวันขึ้นปีใหม่กับแม่ผู้บังเกิดเกล้า ที่บ้านเกิดเมืองกาญจนบุรี อันเป็นภารกิจแห่งความกตัญญูรู้คุณที่ผมตั้งใจทำมาทุกปี อยากจะเขียนบทความเรื่องนี้ให้เสร็จในคืนนี้เพื่อส่งโรงพิมพ์ล่วงหน้า
                หากมีใคร ๆ ถามว่า ปีใหม่คนควรมีความคิดอย่างไรบ้าง หรือ ทำอย่างไรบ้าง ถึงจะถูกต้องดีงาม ท่านจะตอบคำถามนี้อย่างไร?

                มีผู้ที่ช่างคิด และสนใจในเรื่องของชีวิตคนหนึ่งได้ตั้งคำถามนี้กับผม ระหว่างการสนทนาในบ่ายวันหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ด้วยเหตุที่ไม่ได้คาดว่าจะได้รับคำถามเช่นนี้ในที่เฉพาะหน้า แม้จะมั่นใจว่าเป็นคำถามที่ตอบได้ไม่ยากโดยอิงอาศัยหลักการทางพระศาสนา แต่ในขณะนั้นผมอึ้ง นึกไม่ออกว่าจะตอบอย่างไรให้ได้ใจความที่ดีตามที่ใจอยากจะตอบ

                กลางดึกคืนนี้มีเวลาไตร่ตรองเรื่องนี้อีกครั้ง ผมมีเวลานานเท่าที่ต้องการ จึงขอเรียบเรียงความคิดออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อตอบคำถามของผู้ถามอีกครั้ง และให้คุณผู้อ่านได้รับรู้ บางทีอาจเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อแนวคิด วิถีทางแห่งการดำเนินชีวิต ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนทัศนะซึ่งกันและกัน


                อันที่จริงแล้ว วันเวลาเหมือนเส้นตรงที่ถูกขีดให้เดินทางไปข้างหน้าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด คนเก่าแก่อาศัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริง เห็นได้ด้วยตา มาเป็นตัวกำหนด จากหน่วยที่เล็กที่สุดไปจนถึงหน่วยที่ใหญ่ที่สุด เช่นการกำหนดวินาที นาที ชั่วโมง วัน สัปดาห์ เดือน ปี ทศวรรษ ศตวรรษ สหัสวรรษ ทสสหัสวรรษ (หมื่นปี) พื้นฐานน่าจะมาจากโลกหมุนรอบตัวเอง และหมุนรอบดวงอาทิตย์ เกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติมืดสว่างขึ้น สว่างสมมติเรียกกว่ากลางวัน มืดสมมติเรียกว่ากลางคืน

                สรรพสิ่งในโลกนี้คล้ายเป็นเรื่องสมมุติ และถูกผูกให้เป็นทาสของเวลา หรือมีเงื่อนไขร่วมกับเวลาอย่างแยกไม่ออก ชีวิตทุกชีวิตเหมือนเป็นภัสมธุลีในจักรวาลอันไพศาลถูกกำหนดให้กำเนิดขึ้น ดำรงอยู่ชั่วระยะหนึ่ง และล่วงลับดับหายไปในที่สุด เปรียบเทียบทางธรรมน่าจะได้แก่หลักของไตรลักษณ์ คือมีลักษณะ 3 ประการ ไม่ยั่งยืน แปรเปลี่ยน ยึดถือว่าเป็นของเขาของเราไม่ได้
                สมองของคนเป็นก้อนสีเทาอยู่ภายใต้กะโหลกด้านหน้า และตรงท้ายทอย มีการพัฒนาให้มีความรู้สึกนึกคิดได้อย่างซับซ้อนลึกซึ้ง ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานต่อเนื่อง ถึงบัดนี้จึงเกิดมีคำสอน สรรพวิทยาการต่าง ๆ อยู่มาก ต่างมีเป้าหมายมุ่งสั่งสอนให้รู้ และเข้าใจโลกและชีวิต ตามที่เป็นจริง เพียงแต่ว่าคำสั่งสอนเหล่านั้นถูกแบ่งแยกไปหลายแขนงยิบย่อย แต่หากจะแบ่งแยกเป็นกลุ่มใหญ่กันจริง ๆ แล้ว ก็จะมีสองกลุ่ม

                กลุ่มวิชาที่ศึกษาไว้เพื่อหาเลี้ยงชีพ เริ่มตั้งแต่การเรียนรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เพื่อให้เกิดทักษะความชำนาญสร้างสรรค์หรือแก้ปัญหาต่าง ๆ เพื่อการดำรงชีวิต เพื่อสนองความต้องการทางด้านอารมณ์อันไม่มีที่สิ้นสุด อันเป็นหน้าที่ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดต้องศึกษา เช่นต้นไม้ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่เรียนรู้ที่จะเอนตัวออกหนีร่มเงาเพื่อชูยอดให้พ้นเงา ลูกไก่เรียนรู้เรื่องการคุ้ยเขี่ยหากินจากแม่ไก่ เป็นต้น


                กลุ่มวิชาที่เกี่ยวกับการบำรุงเลี้ยงจิตใจ อันได้แก่คำสอนของศาสดาต่าง ๆ มุ่งเน้นแนวทางเข้าใจโลกเหมือนกับที่เป็นจริง เพื่อทำให้ความเป็นคนที่มีสมองพัฒนาแล้วต่างจากการเรียนรู้ของสัตว์อื่น ๆ การศึกษาของโลกปัจจุบันเน้นหนักทางด้านทักษะและวิชาการเพื่อการดำรงชีวิตและความสะดวกสบาย ละเลยกลุ่มวิชาที่สองไปมาก ทำให้ความสมดุลขององค์ความรู้เอนเอียง เป็นไปเพื่อการเบียดเบียน แย่งชิง แสวงหา กอบโกย บริโภค วัตถุนิยมมากยิ่งขึ้นตามลำดับ

                หันมากล่าวถึงคำถามว่าควรคิด หรือทำอย่างไรในปีใหม่ ผมขอกล่าวตามธรรมเนียมอันดีดังนี้

                เวลาเป็นสิ่งมีค่าผ่านแล้วไม่ย้อนคืน ดังนั้นวันคืนที่ผ่านไปเราควรใช้เวลาอย่างไรให้คุ้มกับการ เสียเวลา หลายครั้งผมเคยได้ยินคำพูดว่า เดินเล่นฆ่าเวลา นอนเล่นฆ่าเวลา คำพูดอย่างนี้อาจฟังดูแล้วเหมือนว่ากำลังรอสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญมากกว่า ส่วนการเดินก็ดี การนอนก็ดี ผู้กล่าวไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง ทางที่ถูกควรใช้เวลาทุกวินาทีให้เป็นประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

                ประโยชน์ที่ควรคำนึงมีสองด้าน คือประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ตนหมายถึงการพัฒนาตนเองทั้งด้านความรู้ความคิดและการหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต และต้องศึกษาหลักธรรมของศาสนาต่าง ๆ ประกอบไปด้วยเพื่อพัฒนาจิตใจให้เข้าถึงหลักธรรมเหล่านั้นอย่างแท้จริง
 

                การหาเลี้ยงชีพโดยสุจริตตามแนวทางแห่งพุทธมีองค์ประกอบ 4 ประการ คือ
1. มีความขยันขันแข็งในการประการอาชีพนั้นอย่างเต็มความสามารถ
2. หาทรัพย์มาแล้วต้องรู้จักรักษา ใช้พอสมควรแก่ฐานะ ไม่ฟุ่มเฟือยจนเกินไป ข้อนี้น่าจะเป็นข้อสำคัญที่สุดในปัจจุบัน อันเนื่องมาจากเป็นยุคแห่งความฟุ้งเฟ้อ การหาเงินได้มาด้วยความยากลำบาก ในขณะที่การใช้จ่ายได้ง่าย เพราะมีเครื่องอำนวยความสะดวกพร้อม แต่ก็ไม่ควรประหยัดเสียจนเดือดร้อน แบ่งส่วนหนึ่งเก็บออมไว้ใช้ในยามคับขัน
3. คบมิตรที่ดีมีปัญญา รู้อะไรเป็นโทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ และ
4. วางตนสมฐานะ หาทรัพย์ได้น้อยก็ใช้จ่ายแต่น้อย หาทรัพย์ได้มากก็แบ่งเก็บไว้เป็นทุนสำรองในวันที่ขาดแคลน

                ประโยชน์ผู้อื่นนั้น หมายถึงเมื่อดำรงชีพตามหลักทั้งสี่จนเกิดความมั่นคงโดยฐานะ พร้อมทั้งเรียนรู้แนวทางหลักธรรมมีความสงบในใจตามสมควรแก่วัยแล้ว ต้องช่วยเหลือผู้อื่นด้วยสติปัญญาตามความสามารถเท่าที่จะทำได้ ตามประสบการณ์ที่ได้ผ่านมาจริง

                สำหรับตัวผู้เขียนเอง ขอถือโอกาสนี้ตั้งปณิธานว่าจะดำเนินชีพโดยสุจริตตามแนวทางแห่งพระพุทธศาสนาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ โดยเริ่มต้นที่ตัวเองอย่างง่าย ๆ ตามลำดับแห่งหัวข้อธรรมที่พระสั่งสอนกันต่อมา


                ตั้งใจว่าจะปรับจิตใจให้ยินดีในการเสียสละ รู้จักการทำทาน เพื่อกำจัดความตระหนี่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการให้เพื่อสงเคราะห์ เช่นการให้ทรัพย์สินเงินทองแก่ผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า หรือให้เพื่อการบูชาคุณ เช่นการให้การสงเคราะห์ผู้มีพระคุณ บิดา มารดา สมณะชีพราหมณ์ ครูบาอาจารย์ หรือแม้แต่การให้ธรรมเป็นทานแก่ศิษย์หรือคนรู้จักที่มีธุลีในดวงตาน้อยพอจะรับฟังข้อคิดความเห็นของผมตามสมควร
                ให้ทรัพย์สินศฤงคาร เรียก “อามิสทาน” มีผลทำให้เรามีฐานะดี ใครอดอยากยากจน ทำงานหนักแล้วไม่ร่ำรวยสักที ก็น่าจะพิจารณาในหลักคำสอนนี้ และเร่งรีบดำเนินการแก้ไขตามหลักการนี้อย่างต่อเนื่องยาวนานจริงจัง

ให้ความรู้ เรียกว่า “วิทยาทาน” มีผลทำให้เป็นคนมีความรู้ความสามารถในด้านสรรพวิทยา ให้ธัมมะ เรียกว่า “ธรรมทาน” มีผลทำให้มีสติปัญญาควบทั้งทางโลกและทางธรรม พระสอนว่า “การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง” (สรรพทานัง ธัมมะทานัง ชิเนติ)

                ตั้งใจว่าจะรักษาศีลให้ครบ 5 ข้อ พยายามไม่ทำร้าย ไม่ฆ่าใคร ไม่ยินดีในของของใคร ไม่ผิดในกาม ไม่พูดเท็จ ไม่ดื่มของมึนเมา หรือ อย่างน้อยก็ค่อยๆ ลดลง

                ผมตั้งใจว่าจะนั่งสมาธิตามแนวทางแห่งหลวงพ่อวัดปากน้ำ (ข้อนี้ใครชอบแนวทางไหนก็ตามแต่ชอบนะครับ) ที่ผมได้ยึดถือปฏิบัติทีละนิดทีละหน่อยมาตั้งแต่ปี 2515 อย่างน้อยวันละ 10 นาที สวดมนต์โดยการสวดพระคาถาชินบัญชรอีกอย่างน้อยหนึ่งจบ พร้อมทั้งแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลทั่วสารทิศ

                ผมตั้งใจว่าจะฝึกเพื่อให้ตัวเองเป็นคนมีคุณธรรมอันดีงามต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น เช่นความอ่อนน้อมถ่อมตน มีความเมตตาเต็มอิ่มอยู่ในใจ มีความกตัญญูรู้คุณของผู้มีคุณ ให้อภัยผู้อื่นเสมอ มีความรักในความรู้มากยิ่งขึ้น ฯลฯ

                ความตั้งใจของผมเหล่านี้อาจจะตอบคำถามที่ตั้งไว้ข้างบนได้บ้าง แต่หากว่าคุณผู้อ่านยังมีความหวังความตั้งใจที่ดีกว่านี้ ผมก็ขอถือโอกาสนี้อนุโมทนาด้วย เพราะไหน ๆ ก็สูงอายุขึ้นอีกปีทั่วกันทุกคนอยู่แล้ว

sopon's lifeandwork: ป่าชุมชนวัดคีรีวงศาราม

sopon's lifeandwork: ป่าชุมชนวัดคีรีวงศาราม: "ป่าชุมชนวัดคีรีวงศาราม โสภณ เปียสนิท ............................................... วันเด็กแห่งชาติวันที่ 11 มกราคม 2546 ผ..."

ป่าชุมชนวัดคีรีวงศาราม

ป่าชุมชนวัดคีรีวงศาราม
โสภณ เปียสนิท
...............................................

                วันเด็กแห่งชาติวันที่ 11 มกราคม 2546 ผมรู้สึกดีใจที่ได้เข้าร่วมประชุมกลุ่มอนุรักษ์ป่าวัดคีรีวงศารามกับคณะกรรมการผู้มีใจรักป่าอีกหลายท่าน โดยมอบภาระการนำลูกน้อยวัยสามขวบเศษร่วมกิจกรรมวันเด็กในที่ต่าง ๆ ให้กับคุณแม่ (ของลูก) ทำหน้าที่แต่เพียงลำพังในภาคเช้า

                การประชุมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่า เตือนความทรงจำเก่า ๆ ได้อย่างดี เมื่อปี 2537 ผมเดินทางมาเป็นครูครั้งแรก ที่ ราชมงคลวังไกลกังวล ถนนหน้าวิทยาเขต ที่เขต 3 (ราชมงคลมีทั้งหมด 4 เขตครับ) เขาพิทักษ์ เพิ่งจะเป็นถนนราดยางใหม่ ๆ นานสองนาน กว่ารถยนตร์หรือรถมอร์เตอร์ไซด์จะวิ่งผ่านมาให้เห็นสักคัน ว่าจ้างรถเข้ามายังต้องต่อรองราคาเนื่องจากคนขับอ้างว่าเป็นค่าความเสี่ยง เพราะครั้งกระนั้นเส้นทางนี้ดูเดียวดายไร้เป็นนิจ

                มีเหตุการณ์ประทับใจเกี่ยวกับความเป็นป่าอย่างน้อยสามครั้ง เช้าวันหนึ่ง ฟ้าเพิ่งจะหมาดฝน หลังจากคืนฟ้ารั่วฝนพรมพรำอย่างต่อเนื่องจนรุ่งสางจึงหยุดไป ผมถึงที่ทำงาน บนอาคาร 6 ชั้น 3 เวลา 7.30 นาฬิกา ฟ้าด้านทิศตะวันออกมีลำแสงผ่านม่านเมฆรำไรทาบทุ่งหญ้าด้านหลังอาคาร ผมมองทุ่งหญ้าฉ่ำฝนด้วยความประทับใจ ใกล้ต้นเสือหมอบที่กำลังออกดอกสีขาวบานสะพรั่ง ราวก้อนเมฆสีขาวโพลน แม่ไก่ป่ารูปร่างปราดเปรียวกำลังคุ้ยเขี่ยดิน เรียกลูกน้อยสี่ตัวให้กินอาหารบนขุยดิน ผมไม่เคยเห็นไก่ป่าในสภาพที่เป็นธรรมชาติอย่างนี้มาก่อนเลยในชีวิตสามสิบกว่าปี
                อีกครั้งเป็นความประทับใจในแง่ลบ เช้าวันหยุดวันหนึ่งผมตื่นแต่เช้าลุกขึ้นวิ่งออกกำลังกาย ตามเส้นทางด้านหน้าวิทยาสู่เขาช่องประดู่ ทางไปอำเภอใหม่ มอร์เตอร์ไซด์เก่า ๆ คันหนึ่งจอดอยู่ข้างทางในระยะไกล นึกในใจว่าเจ้าของคงจอดทำธุระอย่างใดอย่างหนึ่งตามประสาลูกบ้านป่า ใกล้เข้าไปจึงได้เห็นเจ้าของเดินออกจากป่า ในมือหิ้วขาหลังกระต่ายป่าสองตัวห้อยหัวมาที่รถ ผมจำไม่ค่อยจะได้ว่าผมทักทายไปว่าอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ ผมมีโอกาสสบตากระต่ายที่ตายตาไม่หลับไปแวบหนึ่ง สมองวิ่งวนอยู่สองด้านระหว่างความดีใจที่เจ้าของรถมีอาหารกิน ในขณะที่อีกมุมหนึ่งผมสงสารกระต่าย ทั้งเป็นกังวลว่าอีกไม่นานคงจะไม่มีที่ให้กระต่ายป่าได้วิ่งเล่น

                และอีกครั้ง ผมเดินซื้อของในตลาดสด ผ่านร้านขายผักหลากหลายชนิด ในกระด้งข้างแผงมีร่างของสัตว์ดำเกรียมหลายชนิดวางรวมเป็นกอง จึงสอบถามได้ความว่า เป็นสัตว์ที่ตายจากไฟไหม้ป่าเมื่อคืนที่ผ่านมา ใช่ครับ เมื่อคืนที่ผ่านมาผมยืนมองไฟไหม้เขาหินเหล็กไฟจากหน้าต่างบ้านพักอยู่นานสองนาน เปลวไฟลามเลียจากเชิงเขาขึ้นบนยอดเขา หลายจุดหลายทิศทาง สัตว์คงวิ่งหลบไฟทางโน้นบ้างทางนี้บ้าง ในที่สุดเมื่อไฟล้อมไว้ทุกด้าน วิ่งไปทางไหนก็เจอ เลยต้องจบชีวิตลง ดังที่เห็น
                ไม่แปลกนะครับที่ทุกวันนี้ผมไม่ได้เห็นไก่ป่า ไม่ได้ยินเสียงขัน ไม่ได้เห็นกระต่ายป่าอีกเลย ทั้ง ๆ ที่อยากเห็น และตอนนี้ผมมีความคิดต้องการรักษาความเป็นธรรมชาติดังที่เคยเป็นเคยมีไว้ให้ลูกของผมได้เห็น เหมือนที่ผมเคยเห็น อยากให้ลูกหลานภายในชุมชนรอบ ๆ หัวหินได้มีป่าไม้ร่มเย็น สัตว์ป่า พันธุ์ไม้ ไว้ให้ศึกษาใกล้ ๆ เพื่อปลูกฝังความรักธรรมชาติไว้ตั้งแต่ยังเล็ก

                ถือเป็นโอกาสดีนะครับ ที่ผมได้ร่วมประชุม กลุ่มอนุรักษ์ป่าวัดคีรีวงศาราม ความหวังที่ผมจะได้เห็นป่าและสัตว์ป่าอันเป็นของชุมชนเพื่อชุมชน โดยชุมชนจุดประกายขึ้นแล้วริบหรี่รำไร ยังครับยังไม่สว่างมากจนถึงขนาดจะส่องทิศทางให้ชัดเจนได้มากนัก แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจ

                หลวงพ่อเจ้าอาวาสท่านได้กรุณาเริ่มต้นเล่าให้ที่ประชุมได้ทราบว่า ท่านได้รอนแรมมาจากต่างถิ่นเมื่อประมาณห้าปีมาแล้ว ในขณะที่วัดกำลังถูกทอดทิ้ง เจ้าอาวาสองค์เก่าลาสิกขาไป ชาวบ้านปล่อยหน้าที่การดูแลวัดให้เป็นภาระของทางวัด ที่ดินของวัดซึ่งแต่เดิมเป็นที่สาธารณะกำลังถูกบุกรุกเข้าครอบครองโดยเอกชน โดยใช้ช่องโหว่ของเครือข่ายอำนาจรัฐอย่างได้ผล ท่านพยายามรักษาวัด รักษาที่ดิน รักษาป่ารอบวัดไว้เพื่อให้เป็นสาธารณสถานของชุมชนโดยรอบตลอดมา

                ท่านได้เล่าถึงปัญหาไฟไหม้ป่าว่ามาจากสาเหตุอันเป็นความจงใจของคน ที่ปรารถนาผลประโยชน์ระยะสั้น มิใช่มาจากสาเหตุตามธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อวัดมาก จนบางครั้งถึงกับลุกลามไหม้กุฏิทำกัมมัฏฐานของวัดที่ตั้งอยู่รอบนอกวัดลึกเข้าไปในป่า ป่าไม้ค่อย ๆ เสื่อมโทรมมากขึ้นทุกปี ไก่ป่าบนเขาวัดคีรีวงศารามมีห้านิ้ว ด้านหน้าสาม ด้านหลังสอง อันเป็นลักษณะแปลกไปจากไก่ป่าทั่วไป ปัจจุบันเหลือน้อยร่อยหรอ กระต่าย และนางอายที่เคยมีอยู่ ตอนนี้ก็หายหน้าไปแทบไม่ได้พบ

                หลายปีที่ผ่านมาท่านได้พยายามปลูกต้นไม้หลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภทที่ทนแดดทนร้อน เช่นต้นลั่นทม (ลีลาวดี) ต้นประดู่ ต้นมะขาม ว่านบางชนิด มะกอก ในแต่ละปีดูเหมือนว่าจะเหลือไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่ได้ลงทุนปลูกไป นั่นหมายถึงว่าภูเขาในบริเวณนี้ไม่อาจฟื้นฟูให้เป็นป่าที่สมบูรณ์ได้โดยง่าย
                เมื่อสรุปกันว่าปัญหาสำคัญที่สุดคือไฟ ดังนั้นวิธีแก้ไขประการแรกสุดจึงพุ่งเป้าไปที่การป้องกันไฟ โดยการรณรงค์ให้ชุมชนรอบ ๆ รู้ถึงคุณค่าของป่า ปัญหาของไฟ และโทษของการไม่มีป่าอย่างเร่งด่วน ด้วยความเชื่อที่ว่า ป่านั้น ถ้าหากเราไม่เข้าไปทำลาย ปล่อยให้เจริญเติบโตไปตามปกติ ก็สามารถเติบโตได้เองปีละมิใช่น้อย

                ที่ประชุมลงมติให้ช่วยกันสำรวจเส้นทางเพื่อทำแนวกันไฟในโอกาสต่อไป โดยกำหนดแบ่งงานจัดทำ แนวกันไฟ ไว้สามส่วน สำหรับสามกลุ่ม ที่คาดว่าเราจะสามารถขอความร่วมมือได้ คือ กลุ่มโรงเรียนหัวหินวิทยาคม กลุ่มทหารจากค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย และกลุ่มนักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตวังไกลกังวล โดยทุกกลุ่มจะเชิญตัวแทนกลุ่มชาวบ้านที่อยู่อาศัยรอบ ๆ และใกล้เคียงผู้มีความรักป่า เข้าร่วมให้การสนับสนุนมากเท่าที่จะสามารถทำได้

                งานต่อมาคือส่งตัวแทนพบปะผู้ที่คิดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องที่คิดว่าอาจจะมีส่วนทำให้เกิดไฟป่าขึ้นโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพื่อชักชวนเข้าร่วมโครงการอนุรักษ์ป่าของเรา

                งานต่อจากนี้คือการช่วยกันปลูกป่า จากบทเรียนของหลวงพ่อ และจากการสำรวจพบว่าพันธุ์ไม้ที่จะปลูกจะต้องทนต่อความแห้งแล้งอย่างที่สุด ดังนั้นจึงช่วยกันคัดสรรพันธุ์ เตรียมพันธุ์โดยใช้เรือนเพาะชำภายในวัด ซึ่งหลวงพ่อเจ้าอาวาสออกปากอนุญาตด้วยความยินดี พันธุ์ไม้เช่นต้นลั่นทม ต้นประตู่ ลั่นทม โพธิ์ ไทร แจง มะขาม มะกอก  และไม้อื่น ๆ อีกหลายอย่างที่มีคุณสมบัติทนแล้งจึงอยู่ในเป้าหมายของกลุ่ม

                วางงานกันไว้ว่าจะจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนให้มั่นคงถาวร และขยายกลุ่มให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ควบคู่กับการ ให้ความรู้คู่ความรัก ป่าให้มากยิ่งขึ้น ระหว่างเวลาเหล่านี้กลุ่มต่าง ๆ จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันปลูกพันธุ์ไม้ลงในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อฟื้นฟูป่าขึ้นอย่างรวดเร็ว
                หลังจากการประชุมเพื่อการอนุรักษ์ในวันเด็กหนึ่งวัน ผมเดินทางจากบ้านพักราชมงคลเยื้องวัดคีรีวงศารามสำรวจพื้นที่ด้านหลังเขาช่องประดู่ โดยแยกขวาตัดขึ้นสันเขาตรงศาลเจ้าด้านขวามือตามเส้นทางหินขรุขระ พบสำนักสงฆ์เล็ก ๆ มีพระอยู่หนึ่งรูป มีเต้นท์และเสนาสนะชั่วคราวเป็นที่พักอาศัย ได้คุยกับสาธุชนผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่ได้การต้อนรับผมด้วยความยินดี ผมแอบดีใจว่าได้กลุ่มอนุรักษ์เพิ่มโดยง่าย ๆ อย่างน้อยผมมีความเชื่อมั่นว่าวัดอยู่ที่ไหนป่าต้องอยู่ที่นั่น

                งานอนุรักษ์ป่าครั้งนี้ผมไม่รู้ว่าป่าจะเพิ่มได้มากน้อยเพียงใด แต่อย่างน้อยผมยังมีความหวังว่างานอนุรักษ์ป่าที่ได้ดำเนินการไปแล้วจะเป็นเหมือนกับการปลูกความรักป่าไว้ในใจของเพื่อนร่วมงานและกลุ่มเยาวชนและชาวบ้านจำนวนไม่น้อย

กฏแห่งกรรม : หลักเกณฑ์ธรรมดา

กฏแห่งกรรม : หลักเกณฑ์ธรรมดา
โสภณ  เปียสนิท
...................................

เรื่องราวเก่าๆ เป็นรากฐานชีวิตของทุกคน ไม่ว่า ราก ของชีวิตของแต่ละคนจะเป็นอย่างไร สักวันเราทุกคนคงต้องรำลึกถึงเรื่องเก่าเหล่านั้นด้วยอารมณ์ที่แปลกแยกแตกต่าง บางเรื่องราวอาจทำให้เราน้ำตาคลอด้วยความโศกเศร้ารันทด ทุกคราวที่หวนคิดถึง บางเรื่องราวอาจทำให้เราเผลอยิ้มอยู่คนเดียวเงียบ ๆ บางเรื่องเราอยากอยากรำลึกถึง บางเรื่องกลับย้อนรำลึกถึงทั้งที่ไม่ต้องการ เพราะเรื่องเก่าๆ เหล่านั้นคือ สิ่งที่บ่งบอกความเป็น เรา ในวันนี้ได้อย่างชัดเจน

                เรา ในวันนี้คือผลสืบเนื่องมาจากวันวาน สองวันก่อน อาทิตย์ที่แล้ว เดือนที่แล้ว ปีที่แล้ว สองสามปีที่แล้ว สิบปีที่แล้ว ยี่สิบ สามสิบปีที่แล้ว สี่สิบหรือห้าสิบปีที่แล้ว ใช่ไหมครับ...หลับตาลงแล้วค่อย ๆ ย้อนดูซิครับ ชัดเจนนะ ผมว่า เราวันนี้เป็นผลมาจาก เราเมื่อหลาย ๆ ปีก่อน (เขียนเหมือนหลอกคนแก่) เราวันนี้มีนิสัยใจคออย่างไร มองย้อนกลับไปจะได้พบ การกระทำ สิ่งที่เราชอบทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนถึงวันนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นเราไปแล้ว

                ไม่แปลกใจที่วันนี้ตัวผมเองเป็นครูอาจารย์ที่สอนหนังสือแปลกแตกต่างจากอาจารย์ท่านอื่น ๆ ที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาจิตใจด้วยหลักธรรม ควบคู่กับการสอนสรรพวิชาต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อาจเกิดคำถามว่าให้ความสำคัญการสอนวิชาการหรือหลักธรรมมากกว่ากัน ผมตอบโดยไม่ลังเลว่าเห็นความสำคัญของ หลักธรรม มากกว่าวิชาการ

                เหตุผลก็อยู่ตรงที่ว่า ผมมีโอกาสบวชเณรตั้งแต่อายุยังน้อย ถูกฝึกด้วยระเบียบวินัยของวัดให้รู้จักการท่องหนังสือ ทำวัตรสวดมนต์ไหว้พระ ทำสมาธิ ศึกษาตำรับตำราที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรมที่เป็นเชิงปริยัติหรือทฤษฏี ย้อนสำรวจเส้นทางของชีวิตพบว่า ผมชอบอ่านกฏแห่งกรรมของคุณ ท. เลียงพิบูลย์ มากเป็นพิเศษ เผลอไม่นานผมอ่านยกชุด อย่างน้อยก็หมดชุด เท่าที่มีอยู่ในห้องสมุด หนังสือชุดนี้น่าจะมีส่วนโน้มน้อมความรู้สึกนึกคิดของผมได้มากกว่าร้อยละห้าสิบ

                มิได้หมายความว่าคนที่บวชเรียนตั้งแต่เล็กแต่น้อยอย่างผมจะมีใจโน้มน้อยไปทางเดียวกับผมทั้งหมดนะครับ ยังมีเพื่อนร่วมทางเดินอีกหลายคนที่ผ่านการอบรมฝึกฝนมาด้วยกันแต่ยังก้าวเดินมาตามเส้นทางสายนี้ได้น้อยกว่าผม และก็มิได้อีกเช่นกันว่าเขาเหล่านั้นจะไม่มีโอกาสได้หันเข้าหาหลักธรรม และเร่งรีบเดินทางอย่างหามรุ่งหามค่ำ ถึงยามนั้นเขาเหล่านั้นอาจแซงหน้าผมไปได้ไกลกว่าอย่างไม่เห็นฝุ่นก็เป็นได้

                หลักของพุทธเป็นหลัก ธรรมดา ที่ง่ายต่อการเข้าใจหากเราเข้าใจหลักกรรม หรือ หลักของการกระทำ ทำด้วยกาย วาจา และใจ ทุกอย่างจะค่อย ๆ เกิดการสั่งสมไว้ในความคิดของเราอย่างต่อเนื่อง ทั้งหลับและตื่น ไม่เคยหยุดนิ่งเลย เหมือนดังคำที่ปราชญ์บางคนกล่าวไว้ว่า ทุกอย่างที่ทำ ทุกคำที่พูด ทุกสิ่งที่คิด ถูกบันทึกไว้ด้วยวีดีโอใจของเรา

            ก็สิ่งที่เราคิดพูดทำอยู่นั่นล่ะที่จะพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ ที่ละน้อยและกลายเป็นความเคยชิน คราวนี้ความเคยชินอันนี้แหละครับจะเป็นตัวชี้ทิศทางว่าชีวิตของเราจะก้าวไปทางไหน

                สมหมายชอบอ่านหนังสือ เช้าอ่านหนังสือ บ่ายอ่านหนังสือ เย็นอ่านหนังสือ แต่ละวันแต่ละคืนที่ผ่านไปก็ยุ่งเหยิงพัวพันอยู่กับการอ่านหนังสือ ยิ่งนานวันเข้าหนังสือก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของสมหมาย วันไหนไม่ได้อ่านหนังสือก็จะรู้สึกกระวนกระวายใจคอหงุดหงิด นานเข้า แม้ไปไหนก็ต้องมีหนังสือติดมือไปด้วย อ่านไม่อ่านไม่รู้แต่ต้องถือหนังสือไปด้วย เกรงว่าหากมีเวลาว่างแม้นิดหน่อยก็ตาม จะไม่มีหนังสือให้อ่าน บางครั้งไม่มีเวลาว่าง วันทั้งวันได้แต่ถือหนังสือไปมาอยู่อย่างนั้นจนเคยชิน

                สายสมร ชอบรับประทานอาหาร เช้ารับประทาน บ่ายรับประทาน เย็นรับประทาน ว่างก็เสริมระหว่างมือตามแต่ ใจจะอยากและปากจะต้องการ วันเวลาที่ผ่านไปก็จะสาละวนอยู่กับการรับประทาน ไปไหนก็จะต้องถืออาหารติดมือไปด้วยเสมอ นั่งอยู่ก็ตาม ยืนก็ตาม นอนก็ตาม เดินก็ตามต้องมีอาหารติดมือไปให้หยิบใส่ปากได้ไม่ขาดแคลน

                ศรสถิตย์ ชอบทำอาหาร เช้าทำอาหาร บ่ายทำอาหาร เย็นทำอาหาร มีงานที่ไหนต้องไปช่วยทำอาหาร เขาไม่เชิญก็ยังไปขอเขาทำ ขอไปช่วยทำอาหาร แต่ละวันก็จะผ่านไปด้วยการได้ฝึกได้ทำอาหารร้อยแปดพันเก้าชนิด เดินเข้าร้านอาหาร ต้องเข้าไปดูอาหารแต่ละชนิด เมื่อรับประทานอาหารก็ต้องหมกมุ่นครุ่นคิดถึงรสชาติของอาหารว่าจะประกอบด้วยอะไรบ้าง อะไรมาก อะไรน้อย รสไหนจะดีกว่ารสไหน ต้องเติมรสเปรี้ยวนิด รสหวานหน่อย

                คุณยายจิตสมาน ชอบตักบาตรทุกเช้า (คงไม่ต้องต่อด้วยคำว่า บ่ายตักบาตร เย็นตักบาตรนะครับ) เหตุที่ชอบก็เพราะใส่บาตรกับคุณแม่ของยายมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย ถามคุณยายว่าตักบาตรมาตั้งแต่อายุเท่าใด ยายเองก็ตอบไม่ได้ว่าตักบาตรมาตั้งแต่เมื่อใด จำความได้ก็รู้ว่าช่วยแม่ของยายตักบาตรแล้ว หลังจากแม่ของยายสิ้นชีวิตแล้ว ก็สืบทอดเจตนารมณ์ต่อมามิได้ขาด วันไหนป่วยก็มอบหมายให้ลูกหลานตักบาตรแทน วันไหนฝนตกพระไม่มาบิณฑบาต (ห้ามใส่ ร เรือตรงนี้นะครับ) ก็ต้องให้ลูกหลานนำอาหารไปส่งที่วัดจนได้ กล่าวได้ว่าต้องตักบาตรทุกวัน

                คุณวันเสถียร ชอบเรียนหนังสือมาตั้งแต่เด็ก ป่วยไข้ไม่สบายก็ต้องไปโรงเรียน วันไหนไม่ได้ไปโรงเรียน (ยกเว้นวันหยุด) เป็นต้องร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวร ให้แม่พาไปจนได้ เรียนไม่ไหวก็ขอให้ได้ดูเพื่อน ดูครู ดูโรงเรียนก็ยังดี เรียนปฐมแล้วก็อยากเรียนมัธยม ปริญญาตรี โท เอก ต่อเนื่องกันเรื่อยไปไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย จบเอกแล้วก็ยังอยากเรียนปริญญาเอก โน่น นี่อยู่อย่างต่อเนื่อง

                คุณเวียนสถาน ชอบฝึกสติวันละสิบนาที โดยการนั่งนิ่ง ๆ หลับตา พร่ำบ่นแต่คำว่า สัมมาอรหัง ซ้ำไปซ้ำมาอยู่ในใจ ระหว่างที่พร่ำบ่นอยู่นั้นก็นึกดวงแก้วกลมใสดวงหนึ่งอยู่กลางท้อง จนกว่าจะครบสิบนาทีแล้วจึงเลิกทุกวันมิได้ขาดเลยเป็นเวลายาวนานหลายสิบปี

                คุณฝันสะเทือน ชอบจิบเหล้ามาตั้งแต่เพิ่งจะเริ่มแตกพาน เพราะพ่อใช้ให้ไปซื้อเหล้าจากร้านข้างบ้านจึงแอบจิบ ๆ นานเข้าก็กลายเป็นดื่ม แรก ๆ ดื่มเฉพาะเทศกาล นานเข้าก็ดื่มทุกเย็น ทุกเย็นและเพิ่มวันหยุดทั้งวัน ไปที่ไหนก็ต้องมีเหล้า งานไหนไม่มีเหล้าก็กลายเป็นงานกร่อย ทุกวันนี้เช้าดื่มเหล้า บ่ายดื่มเหล้า เย็นดื่มเหล้า และกลางคืนก็ดื่มเหล้า

                บุคคลที่กล่าวถึงข้างบนนั้นแม้จะเป็นชื่อที่ผมตั้งขึ้นเองเล่น ๆ แต่แต่ละคนเหมือนผมและคุณผู้อ่านจะเคยพบเห็นได้ในชีวิตจริงได้โดยสม่ำเสมอ ช่วยกันคิดต่อสักนิดหนึ่งนะครับว่า แต่ละคนนั้นจะมีชีวิตในบั้นปลายอย่างไร สมหมายต้องเป็นคนที่มีความรู้มากมายเหมือนตู้หนังสือเคลื่อนที่ จะพูดจะคุยเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างรู้แจ้งเห็นจริง

               สายสมร ต้องเป็นคนอ้วนกลมเป็นตุ่มแน่  ศรสถิตย์ ต้องเป็นแม่ครัวที่เก่งอาจ ยายจิตสมาน ต้องมีฐานะมั่นคงมีทรัพย์สินพอจับจ่ายไม่ฝืดเคืองตลอดชีวิต วันเสถียรจะเป็นนักวิชาการใหญ่ใฝ่ศึกษาไม่รู้จบ เวียนสถานจะมีจิตใจสงบเย็น มีความสุขมีความคิดถูกต้อง มีความจำดี ฝันสะเทือน ต้องกลายเป็นคนติดเหล้าและสุขภาพทรุดโทรมอย่างรวดเร็วและอายุไม่ยืน

                คุณผู้อ่านต้องการจะพาชีวิตคุณไปสู่จุดไหน มิได้หมายถึงว่า หากใครใช้ชีวิตอย่างใดแล้วจำเป็นจะต้องเป็นอยู่อย่างนั้นตลอดกาล ทุกคนอาจเปลี่ยนเส้นทางใหม่ได้ เมื่อใดก็ได้ เพียงแต่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้น เปลี่ยนไปในทางบวกนั้นทำได้ยาก หรือเปลี่ยนไปในทางลบ ที่ทำได้ง่าย การกระทำในวันนี้จะบ่งชี้ชีวิตในวันหน้าของคุณ

sopon's lifeandwork: ล่องเมืองใต้

sopon's lifeandwork: ล่องเมืองใต้: "ล่องใต้ โสภณ เปียสนิท ................... คำว่า “ เมืองใต้ ” ค่อนข้างจะอยู่ห่างไกลความรู้สึกของผม แม้ว่าเมื่อครั้งบวชเรียนที่มหาวิทยาลัย..."

หนังสือที่อยากเขียน



หนังสือที่อยากเขียน
โสภณ  เปียสนิท
.........................................

                จำได้ว่าผมเริ่มสอนหนังสือมาตั้งแต่ครั้งดำรงเพศสมณะเมื่ออายุราวสิบแปดปีเรื่อยมา สึกหาลาเพศก็สอนที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม สอนที่โรงเรียนร่มเกล้า จังหวัดกาญจนบุรี และสอนที่ราชมงคลวังไกลกังวลอีกแปดปีเศษเข้านี่แล้ว นับจากวันนั้นถึงวันนี้ผมสอนหนังสือมา 24 ปีกว่า นานพอดู

                ผมอ่านหนังสือมานาน แรก ๆ รู้สึกยากเย็นแสนเข็ญ อาจเป็นที่ตอนนั้นใจของผมไม่ได้รักการอ่าน แต่ผมจำเป็นต้องอ่าน เนื่องจากผมบวชเพื่อเรียนหนังสือ หลวงพ่อเจ้าอาวาสให้ผมเรียนนักธรรม เรียนบาลี ต่อมาเมื่อได้เข้ากรุงเทพฯ ผมเรียนการศึกษานอกโรงเรียนระดับมัธยมสาม ระดับมัธยม 4-6 เรียนเองดูหนังสือเองเพื่อสอบเอาใบประกาศวุฒิครู พก.. ครู พ.. และอ่านเมื่อศึกษาระดับปริญญาตรี และโท

                ผมเขียนหนังสือมานาน แต่เป็นการเขียนเพื่อตอบคำถามแบบอัตนัย ตามที่การศึกษาสายวัดนิยม เช่นการแต่งความกระทู้ธรรม เขียนเล่าพุทธานุพุทธประวัติ เขียนอธิบายธรรมตามหัวข้อที่อาจารย์เป็นคนกำหนด เขียนอธิบายหลักวินัยของพระเณร เพื่อให้ผ่านการสอบข้อเขียน การเขียนอื่น ๆ ยังมีอีกมาก เช่นการเขียนจดหมาย การเขียนเล่นระบายอารมณ์ การเขียนบันทึกไดอารี่ประจำวัน การเขียนบันทึกหัวข้อการศึกษาเพื่อสรุปใจความ

                ถึงวันนี้ผมอยากเขียนหนังสือสักเล่ม หนังสือที่เป็นไปตามแบบที่ผมต้องการให้เป็น ผมอ่านพบในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 ว่า การศึกษานั้นต้องสอนให้ผู้เรียน เก่ง ดี มีสุขดังนั้นผมอยากเขียนหนังสือที่ผสมผสาน ระหว่างวิชาการอันจะทำให้ผู้เรียนมีความเก่ง ตามสาขาวิชาที่ต้องการจะศึกษา และหลักการฝึกจิตอันจะทำให้ผู้เรียนเป็นคนดี และเมื่อผู้เรียนมีความเก่งและมีความดี ย่อมทำให้ชีวิตมีความสุขได้ไม่ยาก

                จากรากฐานของชีวิตที่ผ่านมา ผมสอนหนังสือในสองวิชา คือสอนเน้นหนักทางด้านคุณธรรมความดี เมื่อครั้งยังอยู่ในสมณะเพศ และวิชาภาษาอังกฤษเมื่อออกมายึดอาชีพครู วันนี้ผมสอนภาษาอังกฤษพร้อมถือโอกาสแห่งความเป็นครู แทรกคะแนนความประพฤติ 5 คะแนนสำหรับนักศึกษาที่สวดมนต์บางบทตามที่กำหนดได้ แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านจำนวนมาก แต่ผมมีความมั่นใจในหลักการที่ดำเนินการอยู่ว่าไม่ผิดพลาด จึงยังดำเนินการต่อไป

หรือนี่คือแนวทางแห่งการศึกษาที่เป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับปีพุทธศักราช 2542 ที่ต้องมุ่งให้ผู้เรียนได้รับผลตอบแทนสามด้านคือ “เก่ง ดี มีสุข” ดังที่ยกไว้ข้างต้น หรือนี่คือการศึกษาแห่งชีวิตตามรูปแบบของการผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาตะวันออกคือหลักแห่งการฝึกสติของพระพุทธศาสนา และภูมิปัญญาของตะวันตกคือการศึกษาเชิงวิชาการ ที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศเป็นการเฉพาะด้าน

ผมเขียนข้างต้นนั้นเหมือนจะเป็นคำถาม เพราะแม้ว่าผมจะมีความมั่นใจเพียงใดว่าวิธีการดังนี้ถูกต้อง แต่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาทั้งปวง ที่มาจากพื้นฐานความคิดอันหลากหลาย ยังเห็นไม่ตรงกันว่าวิธีการนี้จะถูกต้องตามความมุ่งหมายของพระราชบัญญัติ จึงตั้งเป็นคำถามไว้ก่อน เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณา
สำหรับผมเมื่อมีความเชื่อมั่นอันแน่วแน่แล้ววิธีการสอนหนังสือ ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนนักศึกษาได้ฝึกสติสมาธิมากยิ่งขึ้นจะเป็นผลดีต่อการศึกษาของผู้เรียนทุกคนในระยะยาว จึงได้เริ่มทดลองหาวิธีการสอนที่ให้ผู้เรียนได้รับผลประโยชน์ทั้งสองด้าน โดยไม่ต้องเสียด้านใดด้านหนึ่งไป ความเป็นเลิศทางวิชาการต้องคงไว้ให้ได้ หลักการพัฒนาจิตใจของผู้เรียนด้วยการฝึกสติหรือสมาธิก็แอบแฝงไว้ด้วย เรียกว่าเป็นการสอนแบบบูรณาการก็ว่าได้

ผมเริ่มต้นด้วยการแบ่งคะแนนความประพฤติที่เดิมเคยให้ 10 คะแนนออกเป็นสองส่วน ส่วนละ 5 คะแนนเท่ากัน 5 คะแนนแรกสำหรับความประพฤติทั่วไป เช่นการเข้าเรียน การแต่งกายสุภาพ การวางตัวเหมาะสม เอาใจใส่การศึกษา อ่อนน้อมถ่อม ส่วนอีก 5 คะแนนที่เหลือ ผมให้นักศึกษาท่องบทสวดมนต์บทหนึ่งยาวพอควร เพื่อวัดความขยัน ความตั้งใจ ความอดทน และเพื่อหวังผลระยะยาวในการฝึกสติและสมาธิ

จากการทดลองสอนแบบดังกล่าวนี้มีผลลัพธ์น่าสนใจ เช่น นักศึกษาเรียนเก่งอยู่แล้วให้ความสนใจวิธีการแบบนี้มากกว่าผู้ที่เรียนไม่เก่ง ครูบาอาจารย์คือกลุ่มที่คัดค้านมากที่สุดถึงขนาดมีคำกล่าวว่า “ขำกลิ้ง” ต่อวิธีการสอนแบบใหม่ที่ผมดำเนินการอยู่ มีครูส่วนน้อย (นิดเดียว) คนสองคนจาก80 สิบกว่าคนที่เห็นด้วย แสดงว่ายังมีปัญญาเห็นไปในแนวทางเดียวกันอยู่บ้าง

ผมเผยแพร่แนวคิดนี้ในวงกว้างโดยเขียนเป็นจดหมายลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เพื่อแจงเหตุผลในการศึกษารูปแบบใหม่ คิดว่าคงมีผู้อ่านบ้าง แต่ไม่ได้รับผลตอบรับประการใด

ผมลองทบทวนดูว่าเหตุใดครูและนักศึกษาส่วนมากจึงไม่เห็นด้วยกับการศึกษาแบบนี้ น่าจะเป็นเพราะว่า ระบบการศึกษาของเราได้รับอิทธิพลการศึกษาแบบตะวันตกมาตั้งแต่แยกการศึกษาออกจากวัด และมีผู้มีความพร้อมเดินทางไปรับการศึกษาจากต่างประเทศ และเข้ามาเป็นใหญ่ และมีหน้าที่จัดระบบการของชาตินานถึง 40-50 ปีเข้านี่แล้ว

ถึงวันนี้การศึกษาของเราเดินตามตะวันตกได้อย่างไม่มีที่ติ แต่เราขาดการศึกษาแบบเรา ผมเสนอแนวทางใหม่ เพราะเบื่อที่จะเป็นเด็กดีของต่างชาติ และไม่แน่ใจว่าการศึกษาแบบตะวันตกที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศในเชิงวิชาการด้านใดด้านหนึ่งนั้นจะถูกต้องไปเสียทั้งหมด

ผมเชื่อว่า การศึกษาเหมือนกับการตักน้ำใส่ตุ่ม ตักใส่เท่าใดก็ตาม ถ้าหากว่าตุ่มรั่ว น้ำจะไม่มีวันเต็ม และคนตักก็จะเหนื่อยเสียเปล่า ได้ไม่คุ้มเสีย เหมือนกัน หากเรียนกันมากมายแต่ที่บรรจุคือใจเสียหรือรั่ว เรียนแล้วก็ลืม เรียนแล้วก็ลืม แล้วเมื่อไรจะได้ผลสมบูรณ์

หากมีการฝึกใจให้ดีประกอบไปด้วย ก็จะเหมือนกับการอุดรูรั่วของตุ่มไว้ได้ ไม่ว่าจะมีอยู่กี่ตุ่ม ไม่ช้าไม่นานจะมีน้ำเต็มทุกตุ่ม หนังสือที่ผมอยากเขียนคือมีทั้งการแนะนำเรื่องการฝึกสติสมาธิประกอบ กับแนะนำหลักวิชาภาษาอังกฤษไว้ด้วยกัน เพื่อให้เรียนรู้วิชาเอาไปประกอบอาชีพ และเรียนรู้หลักธรรมเพื่อพัฒนาจิตใจ

                หนังสือภาษาอังกฤษที่ผมนำเสนอจึงแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนที่เป็นหลักวิชา เริ่มจากการศึกษาคำศัพท์ สำนวนทางธุรกิจ เป็นรายคำ ตามคำกล่าวที่ว่า “ทุกภาษาในโลกนี้เริ่มต้นด้วยคำ” (Every language in the world begins with words” ผมการจะสื่อว่า เริ่มแรกเมื่อเรามีภาษาใช้นั้น คนเราก็พูดกันทีละคำ นานเข้าคำต่าง ๆ ยิ่งมีมากมายขึ้น เดือดร้อนไม่รู้ว่าคำไหนเป็นคำไหน จึงมีคนกลุ่มหนึ่งคิดหลักเกณฑ์ขึ้น เราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า นักไวยากรณ์ (Grammarian)

          นักไวยากรณ์ได้วางหลักไวยากรณ์ โดยกำหนดแบ่งแยกคำต่าง ๆ ไว้ 8 ประเภท เรียกว่า คำนาม คำสรรพนาม คำคุณศัพท์ คำกิริยา คำกิริยาวิเศษณ์ คำบุพบท คำสันธาน คำอุทาน (noun pronoun adjective verb adverb preposition conjunction interjection )

                อีกส่วนหนึ่งคือ ผมแบ่งสามบรรทัดแรกเขียนเรื่องคุณธรรมโดยเน้นเรื่องการฝึกจิต โดยเน้นด้านการทำจิตให้สงบ ซึ่งก็มีอยู่หลายวิธี เช่นการมีคุณธรรมข้อใดข้อหนึ่งก็เป็นการทำใจให้สงบ เช่นเรื่องของการมีเมตตา ใครก็ตามเจริญเมตตามาก ผู้นั้นมีจิตสงบมาก การสวดมนต์โดยสม่ำเสมอก็เป็นเบื้องต้นของการฝึกจิตให้สงบ การกำหนดสติอยู่กับอริยาบถที่เป็นปัจจุบัน ก็เป็นการทำจิตให้สงบเช่นกัน

                หนังสือเล่มที่ผมเขียนถึงอยู่นี้คือ หนังสือ “ภาษาธุรกิจ” ที่ผมเขียนเป็นเชิงบทความลงตีพิมพ์เป็นตอน ๆ เผยแพร่ตามสื่อที่มีชื่อเสียง อันดับต้น ๆ ของหัวหินและในจังหวัดใกล้เคียงอยู่ในขณะนี้

มหาวิทยาลัยราชมงคล

มหาวิทยาลัยราชมงคล
โสภณ  เปียสนิท
.........................................

                ราชมงคลวังไกลกังวล เป็นส่วนหนึ่งของหัวหิน มาตั้งแต่ปี 2533 ด้วยการส่งเสริมช่วยเหลือของคุณขวัญแก้ว วัชโรทัย ดุจบิดาดูแลบุตร จากจุดเริ่มต้นในห้องเรียนชั่วคราวอาคารเด็กเล็กโรงเรียนวังไกลกังวล จนบัดนี้ เติบโตขยายตัวด้านพื้นที่ถึง 4 เขต จากจำนวนนักศึกษา 2 แผนกวิชา 58 คน ด้วยสาขาวิชาคือ การโรงแรม และการท่องเที่ยว  เป็น 1,863 คน ใน 20 สาขาวิชา

                ช่วงปลายปีงบประมาณคือราวเดือนกันยายนตุลาคม ราชการมีงานประชุมสัมมนากันมากเป็นปกติเหมือนทุกปี เนื่องจาก ช่วงระหว่างปี ผู้เกี่ยวข้องต่างพากันใช้จ่ายตามที่จำเป็น กลั่นกรองอย่างดี เพื่อให้มีงบประมาณใช้จ่ายตลอดทั้งปี งบประมาณก้อนสุดท้ายที่เหลือไว้เพื่อการสัมมนาเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ผมมีส่วนในโอกาสเช่นนั้นอีกครั้งหนึ่งระหว่างวันที่ 29 กันยายน-1 ตุลาคม 2546 นี้ แต่ไม่ใช่เพื่อการพัฒนาศักยภาพทางวิชาการ เป็นการสัมมนาด้านการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสถาบันราชมงคล ที่กำลังเปลี่ยนแปลงทั่วทั้งองค์กรครั้งสำคัญ


                ประการหนึ่งสถาบันกำลังเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยเต็มรูปแบบเสียที หลังจากการมีสถานภาพกึ่งมหาวิทยาลัยมายาวนาน เพราะทำการสอนในระดับ ปวช. ปวส. และระดับปริญญาตรี ปวช. เทียบเท่ากับนักเรียนระดับมัธยมหก ต่างกันแต่เพียงว่าเป็นสายอาชีพ แต่ระดับ ปวส. คือระดับอนุปริญญา หรือสองปีแรกของระดับปริญญาตรี แสดงว่าการจัดการศึกษาของราชมงคลคร่อมอยู่ระหว่างนักเรียนระดับมัธยม และนักศึกษาในระดับปริญญาตรี

                ในความหมายของคำว่า มหาวิทยาลัย ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนของราชมงคล คือ การจัดการศึกษามุ่งเน้นไปที่ระดับปริญญาล้วน ๆ ทั้งปริญญาตรี โท และเอกก็ได้ถ้ามีความพร้อมเพียงพอ

                ความพร้อมที่เพียงพอ ผมหมายถึง ทั้งด้านคณาจารย์ที่มีคุณวุฒิเหมาะสม เช่นสอนระดับปริญญาตรี อาจารย์ควรมีวุฒิปริญญาโท สอนระดับปริญญาโทอาจารย์ควรมีวุฒิปริญญาเอก เป็นต้น เอาคร่าว ๆ นะครับ เพราะอันที่จริงแล้วมีรายละเอียดมากพอควร และด้านองค์ประกอบอุปกรณ์ทางการศึกษา ที่สำคัญอย่างยิ่งคือแหล่งค้นคว้าหาความรู้ เพื่อกระตุ้นความอยากรู้ของนักศึกษา ห้องสมุดและเทคโนโลยี น่าจะเป็นอันดับแรก ๆ

                ความเปลี่ยนแปลงอีกประการหนึ่งของราชมงคล คือ หน่วยงานระดับวิทยาเขตราว 40 แห่ง จะได้รับการปรับแยกย่อยเป็น 9 กลุ่ม วิทยาเขตวังไกลกังวลอยู่ใน กลุ่มรัตนโกสินทร์ประกอบด้วย วิทยาเขต 5 แห่ง คือ วิทยาเขตอุเทนถวาย วิทยาเขตเพาะช่าง วิทยาเขตศาลายา วิทยาเขตบพิตรพิมุข จักรวรรดิ และวิทยาเขตวังไกลกังวล

                จุดมุ่งหมายแห่งการประชุมครั้งนี้ เพื่อให้คณะกรรมการที่เป็นผู้แทนจากวิทยาเขตแต่ละแห่งได้จัดทำ วิสัยทัศน์ ของกลุ่มร่วมกัน เพื่อวางโครงสร้างของกลุ่มให้เข้มแข็ง และสร้างความฝันไว้ให้เป็นรูปเป็นร่าง และเป็นการ กระชับสัมพันธ์ระหว่างตัวแทนวิทยาเขตให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นด้วยในคราวเดียวกัน

                การทำวิสัยทัศน์ ในความเห็นของผมคือ การสร้างความฝันบนพื้นฐานของความเป็นจริง ดังนั้นการดูข้อมูลเบื้องต้นของหน่วยงานทั้งสี่ด้าน จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และภัยขุกคาม เรียกเชิงวิชาการหน่อยก็ว่า การทำ สว็อท อนาไลซิส (SWOT Analysis : S=strength W=Weakness O=Opportunity and T=Treat)

            ผมหลับตานึกภาพของวิทยาเขตแต่ละแห่ง เพื่อเป็นการวาดภาพของการจัดทำวิสัยทัศน์ของกลุ่มไว้ในใจก่อน ตามข้อมูลเบื้องต้นเท่าที่มีอยู่ในใจ เพื่อเตรียมการล่วงหน้า เมื่อถึงตอนจัดทำร่วมกันจะได้มีแนวคิดที่เป็นประโยชน์นำเสนอกลุ่มได้บ้าง จากใกล้ไปหาไกล

                ราชมงคลวังไกลกังวล จัดการศึกษาทั้งสายช่าง และสายบริหาร มีอายุ 13 ปี มีพื้นที่ ณ ปัจจุบันราว 180 ไร่ มากเป็นอันดับหนึ่งของกลุ่ม สถานที่ตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวอับดับหนึ่งของประเทศ ผมว่าของผมเองนะครับ ไม่มีใครหรือหลักฐานใด ๆ ยืนยันข้อเขียนนี้ นอกจากว่า ผมคิดถึงแนวชายฝั่งทะเลยาวเหยียดจากหัวหินถึงสุดเขตแดนจังหวัดประจวบฯ มีป่า มีเขา มีถ้ำ มีหมู่บ้านชาวเขา ชาวกระเหรี่ยง  พร้อมสำหรับการพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และเชิงวัฒนธรรมได้อย่างยั่งยืน หรือว่าจุดเน้นทางการจัดการศึกษาควรอยู่ที่ ธุรกิจบริการ การท่องเที่ยวและการโรงแรม

                ราชมงคลศาลายา น้องใหม่ล่าสุดในกลุ่ม อายุราว 8 ปี การเปิดสอนมีลักษณะคล้ายกับวิทยาเขตวังไกลกังวล คือมีทั้งสายช่าง และบริหารธุรกิจ มีสถานที่ตั้งอยู่ใกล้กรุงเทพฯ มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีอาคารและพื้นที่เพียงพอสำหรับการขยายการจัดการศึกษาได้อีกพอควร

                ราชมงคลเพาะช่าง เก่าแก่อายุนับร้อยปี เปิดสอนสายศิลป์หลากหลายสาขา มีศิษย์เก่าทั่วประเทศ อยู่กลางเกาะรัตนโกสินทร์ มีชื่อเสียงมานาน มีคณาจารย์ที่มีความพร้อมทั้งความรู้และความสามารถ ประสบการณ์การสอนยาวนาน

                ราชมงคลบพิตรพิมุข จักรวรรดิ เก่ากว่าเพราะช่างราวยี่สิบกว่าปี มีชื่อเสียงด้านคณะบริหารธุรกิจ บัญชี คอมพิวเตอร์ ภาษา มีสถานที่ราวสองไร่เศษ นักศึกษาราว 3000 คน อยู่ไม่ห่างจากวิทยาเขตเพาะช่าง กลางกรุงรัตนโกสินทร์

                ราชมงคลอุเทนถวาย เก่าแก่ มีชื่อเสียงยาวนาน สร้างบุคลากรสายสถาปัตยกรรม และก่อสร้างให้แก่ประเทศชาติมามาก ปัจจุบันอยู่ในสภาวะชลอตัว ภาพในอนาคตยังไม่ค่อยชัดเจน

                มองภาพรวมของวิทยาเขตทั้งห้าแห่ง จะเป็นกลุ่มที่มีความพร้อมทางด้าน สายบริหารธุรกิจ (ภาษา บัญชี คอมพิวเตอร์) สายช่างอุตสาหกรรม (สถาปัตยกรรม ก่อสร้าง ช่างไฟฟ้า ช่างโยธา ฯลฯ) สายศิลปะ สายโรงแรมและการท่องเที่ยว โดยองค์รวมเหล่านี้นับว่ามีความพร้อมกับการเป็นมหาวิทยาลัยในเครือข่ายที่มีความหลากหลายในเชิงวิชาการเพียงพอ
                มีคำถามว่า ราชมงคลวังไกลกังวลไปรวมกลุ่มรัตนโกสินทร์ได้อย่างไร ทั้งที่อยู่ห่างไกลจากวิทยาเขตอื่น ๆ มาก คำตอบข้อนี้พอมองได้สองสามประเด็น

เช่น ประเด็นเรื่องระยะทางจากกรุงเทพฯถึงหัวหิน อย่างไรก็ยังใกล้กว่ากลุ่มวิทยาเขตภาคใต้มาก และที่สำคัญโครงการก่อสร้างถนนสายใหม่ลงใต้โดยตัดผ่านทะเลบางส่วนของรัฐกำลังจะดำเนิน จะทำให้ระยะเวลาในการเดินทางเชื่อมโยงระหว่างวิทยาเขตในกลุ่มลดลง

ประเด็นเรื่องพื้นที่ราวสองร้อยไร่ของวิทยาเขตวังไกลกังวล จะมีประโยชน์สนับสนุนวิทยาเขตในกลุ่มให้มีการขยายตัวได้อีกมากหากมีวิสัยทัศน์ในการจัดการศึกษาร่วมกัน เช่นสักวันข้างหน้า เมื่อมีความต้องการศึกษาด้านช่างศิลป์ วิทยาเขตวังไกลกังวลสามารถจัดการเรียนการสอน โดยเชิญคณาจารย์จากเพาะช่างมาสอนได้

หากมีหอพักนักศึกษาที่รองรับนักศึกษาได้ 1000-2000 คนเกิดขึ้นบนเนื้อที่ราวสองร้อยไร่ของวิทยาเขตวังไกลกังวล แล้วเชื่อมโยงสาขาวิชาที่เป็นจุดเด่นของแต่ละวิทยาเขตที่อยู่ในกรุงเทพและไม่สามารถขยายตัวได้แล้ว ถ่ายโอนสาขาวิชาเด่นเปิดเพิ่มได้ที่วิทยาเขตวังไกลกังวล ไม่นานนัก วิทยาเขตวังไกลกังวลอาจเป็นเมืองมหาวิทยาลัย ผลิตผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาที่ประเทศชาติต้องการได้อย่างยั่งยืน ผมว่าภาพเหล่านี้อาจเป็นจริงได้ในเวลาไม่นาน
(ภาพคณาจารย์คณะบริหารธุรกิจเยี่ยมชมไร่ผู้ใหญ่สมศักดิ์ แกรงระยอง)