บทความที่ได้รับความนิยม

วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

หนังสือที่อยากเขียน



หนังสือที่อยากเขียน
โสภณ  เปียสนิท
.........................................

                จำได้ว่าผมเริ่มสอนหนังสือมาตั้งแต่ครั้งดำรงเพศสมณะเมื่ออายุราวสิบแปดปีเรื่อยมา สึกหาลาเพศก็สอนที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม สอนที่โรงเรียนร่มเกล้า จังหวัดกาญจนบุรี และสอนที่ราชมงคลวังไกลกังวลอีกแปดปีเศษเข้านี่แล้ว นับจากวันนั้นถึงวันนี้ผมสอนหนังสือมา 24 ปีกว่า นานพอดู

                ผมอ่านหนังสือมานาน แรก ๆ รู้สึกยากเย็นแสนเข็ญ อาจเป็นที่ตอนนั้นใจของผมไม่ได้รักการอ่าน แต่ผมจำเป็นต้องอ่าน เนื่องจากผมบวชเพื่อเรียนหนังสือ หลวงพ่อเจ้าอาวาสให้ผมเรียนนักธรรม เรียนบาลี ต่อมาเมื่อได้เข้ากรุงเทพฯ ผมเรียนการศึกษานอกโรงเรียนระดับมัธยมสาม ระดับมัธยม 4-6 เรียนเองดูหนังสือเองเพื่อสอบเอาใบประกาศวุฒิครู พก.. ครู พ.. และอ่านเมื่อศึกษาระดับปริญญาตรี และโท

                ผมเขียนหนังสือมานาน แต่เป็นการเขียนเพื่อตอบคำถามแบบอัตนัย ตามที่การศึกษาสายวัดนิยม เช่นการแต่งความกระทู้ธรรม เขียนเล่าพุทธานุพุทธประวัติ เขียนอธิบายธรรมตามหัวข้อที่อาจารย์เป็นคนกำหนด เขียนอธิบายหลักวินัยของพระเณร เพื่อให้ผ่านการสอบข้อเขียน การเขียนอื่น ๆ ยังมีอีกมาก เช่นการเขียนจดหมาย การเขียนเล่นระบายอารมณ์ การเขียนบันทึกไดอารี่ประจำวัน การเขียนบันทึกหัวข้อการศึกษาเพื่อสรุปใจความ

                ถึงวันนี้ผมอยากเขียนหนังสือสักเล่ม หนังสือที่เป็นไปตามแบบที่ผมต้องการให้เป็น ผมอ่านพบในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 ว่า การศึกษานั้นต้องสอนให้ผู้เรียน เก่ง ดี มีสุขดังนั้นผมอยากเขียนหนังสือที่ผสมผสาน ระหว่างวิชาการอันจะทำให้ผู้เรียนมีความเก่ง ตามสาขาวิชาที่ต้องการจะศึกษา และหลักการฝึกจิตอันจะทำให้ผู้เรียนเป็นคนดี และเมื่อผู้เรียนมีความเก่งและมีความดี ย่อมทำให้ชีวิตมีความสุขได้ไม่ยาก

                จากรากฐานของชีวิตที่ผ่านมา ผมสอนหนังสือในสองวิชา คือสอนเน้นหนักทางด้านคุณธรรมความดี เมื่อครั้งยังอยู่ในสมณะเพศ และวิชาภาษาอังกฤษเมื่อออกมายึดอาชีพครู วันนี้ผมสอนภาษาอังกฤษพร้อมถือโอกาสแห่งความเป็นครู แทรกคะแนนความประพฤติ 5 คะแนนสำหรับนักศึกษาที่สวดมนต์บางบทตามที่กำหนดได้ แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านจำนวนมาก แต่ผมมีความมั่นใจในหลักการที่ดำเนินการอยู่ว่าไม่ผิดพลาด จึงยังดำเนินการต่อไป

หรือนี่คือแนวทางแห่งการศึกษาที่เป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับปีพุทธศักราช 2542 ที่ต้องมุ่งให้ผู้เรียนได้รับผลตอบแทนสามด้านคือ “เก่ง ดี มีสุข” ดังที่ยกไว้ข้างต้น หรือนี่คือการศึกษาแห่งชีวิตตามรูปแบบของการผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาตะวันออกคือหลักแห่งการฝึกสติของพระพุทธศาสนา และภูมิปัญญาของตะวันตกคือการศึกษาเชิงวิชาการ ที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศเป็นการเฉพาะด้าน

ผมเขียนข้างต้นนั้นเหมือนจะเป็นคำถาม เพราะแม้ว่าผมจะมีความมั่นใจเพียงใดว่าวิธีการดังนี้ถูกต้อง แต่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาทั้งปวง ที่มาจากพื้นฐานความคิดอันหลากหลาย ยังเห็นไม่ตรงกันว่าวิธีการนี้จะถูกต้องตามความมุ่งหมายของพระราชบัญญัติ จึงตั้งเป็นคำถามไว้ก่อน เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณา
สำหรับผมเมื่อมีความเชื่อมั่นอันแน่วแน่แล้ววิธีการสอนหนังสือ ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนนักศึกษาได้ฝึกสติสมาธิมากยิ่งขึ้นจะเป็นผลดีต่อการศึกษาของผู้เรียนทุกคนในระยะยาว จึงได้เริ่มทดลองหาวิธีการสอนที่ให้ผู้เรียนได้รับผลประโยชน์ทั้งสองด้าน โดยไม่ต้องเสียด้านใดด้านหนึ่งไป ความเป็นเลิศทางวิชาการต้องคงไว้ให้ได้ หลักการพัฒนาจิตใจของผู้เรียนด้วยการฝึกสติหรือสมาธิก็แอบแฝงไว้ด้วย เรียกว่าเป็นการสอนแบบบูรณาการก็ว่าได้

ผมเริ่มต้นด้วยการแบ่งคะแนนความประพฤติที่เดิมเคยให้ 10 คะแนนออกเป็นสองส่วน ส่วนละ 5 คะแนนเท่ากัน 5 คะแนนแรกสำหรับความประพฤติทั่วไป เช่นการเข้าเรียน การแต่งกายสุภาพ การวางตัวเหมาะสม เอาใจใส่การศึกษา อ่อนน้อมถ่อม ส่วนอีก 5 คะแนนที่เหลือ ผมให้นักศึกษาท่องบทสวดมนต์บทหนึ่งยาวพอควร เพื่อวัดความขยัน ความตั้งใจ ความอดทน และเพื่อหวังผลระยะยาวในการฝึกสติและสมาธิ

จากการทดลองสอนแบบดังกล่าวนี้มีผลลัพธ์น่าสนใจ เช่น นักศึกษาเรียนเก่งอยู่แล้วให้ความสนใจวิธีการแบบนี้มากกว่าผู้ที่เรียนไม่เก่ง ครูบาอาจารย์คือกลุ่มที่คัดค้านมากที่สุดถึงขนาดมีคำกล่าวว่า “ขำกลิ้ง” ต่อวิธีการสอนแบบใหม่ที่ผมดำเนินการอยู่ มีครูส่วนน้อย (นิดเดียว) คนสองคนจาก80 สิบกว่าคนที่เห็นด้วย แสดงว่ายังมีปัญญาเห็นไปในแนวทางเดียวกันอยู่บ้าง

ผมเผยแพร่แนวคิดนี้ในวงกว้างโดยเขียนเป็นจดหมายลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เพื่อแจงเหตุผลในการศึกษารูปแบบใหม่ คิดว่าคงมีผู้อ่านบ้าง แต่ไม่ได้รับผลตอบรับประการใด

ผมลองทบทวนดูว่าเหตุใดครูและนักศึกษาส่วนมากจึงไม่เห็นด้วยกับการศึกษาแบบนี้ น่าจะเป็นเพราะว่า ระบบการศึกษาของเราได้รับอิทธิพลการศึกษาแบบตะวันตกมาตั้งแต่แยกการศึกษาออกจากวัด และมีผู้มีความพร้อมเดินทางไปรับการศึกษาจากต่างประเทศ และเข้ามาเป็นใหญ่ และมีหน้าที่จัดระบบการของชาตินานถึง 40-50 ปีเข้านี่แล้ว

ถึงวันนี้การศึกษาของเราเดินตามตะวันตกได้อย่างไม่มีที่ติ แต่เราขาดการศึกษาแบบเรา ผมเสนอแนวทางใหม่ เพราะเบื่อที่จะเป็นเด็กดีของต่างชาติ และไม่แน่ใจว่าการศึกษาแบบตะวันตกที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศในเชิงวิชาการด้านใดด้านหนึ่งนั้นจะถูกต้องไปเสียทั้งหมด

ผมเชื่อว่า การศึกษาเหมือนกับการตักน้ำใส่ตุ่ม ตักใส่เท่าใดก็ตาม ถ้าหากว่าตุ่มรั่ว น้ำจะไม่มีวันเต็ม และคนตักก็จะเหนื่อยเสียเปล่า ได้ไม่คุ้มเสีย เหมือนกัน หากเรียนกันมากมายแต่ที่บรรจุคือใจเสียหรือรั่ว เรียนแล้วก็ลืม เรียนแล้วก็ลืม แล้วเมื่อไรจะได้ผลสมบูรณ์

หากมีการฝึกใจให้ดีประกอบไปด้วย ก็จะเหมือนกับการอุดรูรั่วของตุ่มไว้ได้ ไม่ว่าจะมีอยู่กี่ตุ่ม ไม่ช้าไม่นานจะมีน้ำเต็มทุกตุ่ม หนังสือที่ผมอยากเขียนคือมีทั้งการแนะนำเรื่องการฝึกสติสมาธิประกอบ กับแนะนำหลักวิชาภาษาอังกฤษไว้ด้วยกัน เพื่อให้เรียนรู้วิชาเอาไปประกอบอาชีพ และเรียนรู้หลักธรรมเพื่อพัฒนาจิตใจ

                หนังสือภาษาอังกฤษที่ผมนำเสนอจึงแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนที่เป็นหลักวิชา เริ่มจากการศึกษาคำศัพท์ สำนวนทางธุรกิจ เป็นรายคำ ตามคำกล่าวที่ว่า “ทุกภาษาในโลกนี้เริ่มต้นด้วยคำ” (Every language in the world begins with words” ผมการจะสื่อว่า เริ่มแรกเมื่อเรามีภาษาใช้นั้น คนเราก็พูดกันทีละคำ นานเข้าคำต่าง ๆ ยิ่งมีมากมายขึ้น เดือดร้อนไม่รู้ว่าคำไหนเป็นคำไหน จึงมีคนกลุ่มหนึ่งคิดหลักเกณฑ์ขึ้น เราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า นักไวยากรณ์ (Grammarian)

          นักไวยากรณ์ได้วางหลักไวยากรณ์ โดยกำหนดแบ่งแยกคำต่าง ๆ ไว้ 8 ประเภท เรียกว่า คำนาม คำสรรพนาม คำคุณศัพท์ คำกิริยา คำกิริยาวิเศษณ์ คำบุพบท คำสันธาน คำอุทาน (noun pronoun adjective verb adverb preposition conjunction interjection )

                อีกส่วนหนึ่งคือ ผมแบ่งสามบรรทัดแรกเขียนเรื่องคุณธรรมโดยเน้นเรื่องการฝึกจิต โดยเน้นด้านการทำจิตให้สงบ ซึ่งก็มีอยู่หลายวิธี เช่นการมีคุณธรรมข้อใดข้อหนึ่งก็เป็นการทำใจให้สงบ เช่นเรื่องของการมีเมตตา ใครก็ตามเจริญเมตตามาก ผู้นั้นมีจิตสงบมาก การสวดมนต์โดยสม่ำเสมอก็เป็นเบื้องต้นของการฝึกจิตให้สงบ การกำหนดสติอยู่กับอริยาบถที่เป็นปัจจุบัน ก็เป็นการทำจิตให้สงบเช่นกัน

                หนังสือเล่มที่ผมเขียนถึงอยู่นี้คือ หนังสือ “ภาษาธุรกิจ” ที่ผมเขียนเป็นเชิงบทความลงตีพิมพ์เป็นตอน ๆ เผยแพร่ตามสื่อที่มีชื่อเสียง อันดับต้น ๆ ของหัวหินและในจังหวัดใกล้เคียงอยู่ในขณะนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น