บทความที่ได้รับความนิยม

วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เยือนราชมงคลอีสาน

เยือนราชมงคลภาคอีสาน
โสภณ เปียสนิท
......................................

                กิจกรรม 5ส มุ่งเน้นการสะสาง สะอาด สะดวก สุขลักษณะ และการสร้าง (สิ่งเหล่านี้ให้เป็น)นิสัย ของ ราชมงคล ที่ผมเคยเขียนถึงแล้วครั้งหนึ่ง ขณะนี้ยังคงดำเนินต่อไป นับแต่เริ่มกิจกรรมนี้เมื่อปี 2541 ผมเองได้รับมอบหมายจากวิทยาเขตให้เป็นกรรมการมาตั้งแต่ต้นนับคร่าว ๆ ถึงวันนี้ห้าปีกว่าแล้ว

                ครั้งนี้ผมและเพื่อนอีกสองคนร่วมกับคณะทำงานจากวิทยาเขตอื่น ๆ อีก 8 คน ได้รับคำสั่งให้เดินทางเยี่ยมชม ราชมงคลกลุ่มภาคอีสาน ระหว่างวันที่ 22-28 มิถุนายน 2546 ซึ่งประกอบด้วยวิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (โคราช) วิทยาเขตขอนแก่น วิทยาเขตสกลนคร สถาบันวิจัยสกลนคร วิทยาเขตกาฬสินธุ์ และวิทยาเขตสุรินทร์ แต่ละวิทยาเขตยกเว้นที่สกลนคร มีอายุเกินครึ่งศตวรรษแล้วทั้งนั้น

                วันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน ผมและคณะออกเดินทางตั้งแต่เก้าโมง เพื่อไปสมทบกับคณะที่กรุงเทพฯตามเวลาบ่ายโมงที่นัดหมายกันไว้ โดยมีรถตู้สองคันที่ยืมจากกองสวัสดิการและศูนย์ซ่อมเครื่องจักรกลของวิทยาเขตพระนครเหนือเป็นพาหนะ เป้าหมายแรกคือวิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่โคราช     หกโมงเย็นเดินทางถึงที่พัก รับประทานอาหารค่ำ ประชุมแบ่งสายการตรวจเยี่ยมตามประเภทของพื้นที่ เช่น กลุ่มผู้ตรวจสำนักงาน กลุ่มห้องเรียน/ห้องปฏิบัติการ/งานฟาร์ม กลุ่มห้องสมุด/ห้องพัสดุ กลุ่มสภาพแวดล้อม ผมเองได้รับมอบหมายให้เข้าตรวจเยี่ยมห้องสมุดและห้องพัสดุของทุกวิทยาเขต

ราชมงคลวิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นวิทยาเขตใหญ่มีนักศึกษามากกว่าสามพันคน มีอาคารหลายอาคาร มีสำนักงานมาก จนคณะกรรมการต้องใช้วิธีสุ่มตรวจเป็นบางหน่วยงาน หน่วยงานอื่นที่มิใช่เป้าหมายเราเข้าเยี่ยมชมกิจกรรม 5ส โดยนำมาคิดคะแนน เป็นการเยี่ยมชมเพื่อให้กำลังใจ

เสร็จงานจากโคราช เรามุ่งตรงไปขอนแก่นในทันที วิทยาเขตขอนแก่นมีพื้นที่ร่มรื่นน่าประทับใจ ภายนอกอาคารต่าง ๆ จัดเรียงไว้อย่างเป็นระเบียบ มีต้นไม้ใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาให้ความร่มเย็นได้เป็นอย่างดี ผมมีความสะดุดใจกับการจัดทำป้ายกิจกรรม 5ส ของราชมงคลภาคอีสานที่ดูว่าค่อนข้างจะไม่เป็นเอกภาพตามมาตรฐาน ขาดความเด่นชัด

 ตามมาตรฐานแล้วป้ายกิจกรรม 5ส แบ่งเป็นสี่ส่วน ส่วนที่1 ประกอบด้วย ชื่อกลุ่ม คำขวัญกลุ่ม และชื่อ/รูปภาพของบุคคลในกลุ่มพื้นที่ ส่วนที่2 มาตรฐานพื้นที่ ส่วนที่ 3 ผังพื้นที่ ส่วนที่ 4 ตารางการปฏิบัติกิจกรรม 5ส ทั้งสี่ส่วนนี้ควรจะอยู่ในแผ่นเดียวกันและมีความโดดเด่นสวยงาม มีศิลปะประกอบด้วยจะดียิ่งขึ้น

ผมจึงได้เสนอความเห็นไว้ว่าควรจะทำให้ป้ายของกิจกรรม 5ส มีความเป็นเอกภาพและเด่นชัดมากยิ่งขึ้นด้วยการนำส่วนต่าง ๆ ทั้งสี่ส่วนของป้ายกิจกรรม 5ส ของแต่ละกลุ่มพื้นที่รวมกันไว้ในที่เด่นชัดมองเห็นได้ง่าย เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้พบเห็นและเป็นการประชาสัมพันธ์หน่วยงานและกลุ่มพื้นที่ได้อีกด้วย

เสร็จการเยี่ยมชมวิทยาเขตขอนแก่น เรามุ่งสู่จังหวัดสกลนคร จังหวัดนี้มีหน่วยงานที่คณะของเราต้องตรวจเยี่ยมถึงสองแห่งคือสถาบันวิจัยและฝึกอบรมสกลนคร และวิทยาเขตสกลนคร เราเข้าตรวจเยี่ยมที่วิทยาเขตสกลนครในภาคเช้า เพียงครึ่งวันเนื่องจากวิทยาเขตมีขนาดเล็ก และมีอายุเพียง 8 ปี  มีนักศึกษาจำนวน 1500 คน มีคณาจารย์ประจำราว 50 คน อาจารย์จ้างสอน 40 คนเศษ นับว่าเป็นวิทยาเขตที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวอย่างแท้จริง มองเห็นผู้ที่มีอายุมากกว่าผมอยู่สองคน คือท่านผู้อำนวยการ และผู้ช่วยฝ่ายวิชาการเท่านั้น

ผลงานการทำกิจกรรม 5ส ของวิทยาเขตแห่งนี้ไม่น้อยหน้ากว่าที่อื่น มีเพียงคำถามบางประการที่ค่อนข้างแปลกเกิดขึ้น โถส้วมต้องเขียนไว้ด้วยหรือไม่ว่าโถส้วม? ผมได้กล่าวในการสรุปว่า คำถามนี้เป็นคำถามเชิงปรัชญาของ 5ส เลยทีเดียว เพราะต้องถามกลับว่า เขียนแล้วได้อะไร? ถ้าคำตอบว่า ไม่รู้ ให้เขียนก็เขียนไปอย่างนั้น เป็นอันว่าไม่ใช่แล้วผิดปรัชญา 5ส ถ้าตอบได้ว่าเขียนแล้วมีประโยชน์อย่างไร จึงจะถือได้ว่าใช่ ถูกต้อง เช่นเขียนบนพื้นที่ สำหรับเก็บของที่เคลื่อนย้ายได้ เพื่อจะได้รู้ว่าที่ตรงนี้สำหรับวางของนั้น ๆ หายไปจะได้รู้ว่าหาย

วิทยาเขตสกลนครมีความตั้งใจในการทำกิจกรรม 5ส ดีมาก กว่าการตรวจและสรุปผลจะสำเร็จลุล่วงในรอบเช้าก็เลยบ่ายโมง เรียกว่าทั้งผู้ตรวจและผู้ถูกตรวจหิวจนท้องกิ่วไปตาม ๆ กัน เร่งรีบรับประทานอาหารกลางวันเรียบร้อย คณะกรรมการลาเจ้าบ้านผู้อารี แล้วมุ่งสู่สถาบันวิจัย ด้วยความเร่งรีบรถตู้คันหน้าเดินทางล่วงหน้าไปก่อน คันหลังที่ผมนั่งอยู่ด้วยเลยสถาบันฯไปหลายกิโลเมตร

เราตรวจเนื้อที่สองพันไร่เศษด้วยเวลาไม่ถึงสองชั่วโมง โชคดีที่แม้ว่าจะมีเนื้อที่มากมาย แต่มีอาคารไม่มากนัก ผมตรวจห้องสมุดและห้องพัสดุตามเคย พบว่าเจ้าของสถานที่ดำเนินกิจกรรม 5ส กันมากด้วยความเอาใจใส่อย่างดี พนักงานใหม่ ๆ ทำงานได้เดือนสองเดือนได้รับการอบรมความรู้เรื่องกิจกรรมนี้อย่างดี ทุกคนให้คำตอบด้านกิจกรรม 5ส อย่างที่ผมต้องยอมรับว่าค่อนข้างจะสัมผัสกับ ส.ที่ 4-5 เข้าบ้างแล้ว คือ ทำแล้วมีความสุข จนติดเป็นนิสัย

ผมมองสถานที่กว้างใหญ่ไพศาลมีคอกปศุสัตว์ สัตว์ปีก สัตว์น้ำ สัตว์บก หลายชนิด แปลงทดลองทางเกษตรกรรมหลายแห่ง มีแปลงต้นเม่า หรือ มะเม่า สำหรับนำไปทำไวน์ เม่า ที่มีชื่อเสียงขนาดที่รัฐบาลจองไว้เกินกว่า 3000 ขวด เพื่อนำไปให้บริการผู้เข้าร่วมประชุมเอเปกเลยทีเดียว สถาบันวิจัยและฝึกอบรมสกลนครแห่งนี้ ถ้าให้เดินตรวจผมคงต้องใช้เวลาเป็นอาทิตย์แน่ ได้มีโอกาสคุยกับเจ้าถิ่นซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่น การอบรมผู้บริหาร ที่อยู่ในสถาบันวิจัยแห่งนี้ด้วยความคิดถึง

มีความรู้เพิ่มขึ้นนิดเพราะผู้ชำนาญเรื่องไวน์แนะนำว่า การจิบไวน์ต้องมีหลัก 3ด คือ ดู ดม และดื่ม เมื่อรับแก้วไวน์ทรงขาสูง (แก้วขาสูงนะครับคงเคยเห็น) ให้จับที่ก้านหรือขาแล้ว อย่าเผลอไปจับตัวแก้วนะครับเขาจะว่าเราดื่มไม่เป็น รับแก้วแล้วให้ลองแกว่งแก้วดูน้ำตาไวน์ หรือคราบไวน์ที่ค่อย ๆ ไหลลงที่ละนิดเป็นสายย้อยลงสู่ก้นแก้ว ไวน์ดีต้องมีน้ำตาครับ และปริมาณไวน์ของแต่ละแก้วจะไม่เกินกว่าหนึ่งในสามนะครับ (อันนี้เป็นธรรมเนียม อย่าว่าเจ้าของขี้เหนียว) ดูแล้วดมต่อนิดหนึ่ง แล้วค่อยจิบ จิบนะครับอย่าซด กลั้วคอเสียหน่อยจะได้กลิ่นไวน์ขึ้นจมูกนิดหน่อย และที่สำคัญอย่าดื่มมาก เพื่อสุขภาพครับ เพื่อสุขภาพ

วิทยาเขตกาฬสินธุ์เป็นวิทยาเขตเก่าแก่ ท่านผู้อำนวยการเป็นผู้หญิงรูปสวยเสียงเพราะมีท่าทีเอาจริงเอาจัง บางหน่วยงานเอาใจใส่ 5ส ค่อนข้างมาก เราถึงวิทยาเขตขณะที่ผู้อำนวยการให้โอวาทนักศึกษาหน้าเสาธง ซึ่งผมไม่ได้พบสภาพเช่นนี้มาก่อนเลย สภาพโดยทั่วไปอยู่ในขั้นดี แต่ยังมีปัญหาเรื่องระบบน้ำประปาที่ยังอยู่ระหว่างการรอคอยงบประมาณ และยังมีบางห้องที่ยังรอการสะสางตามระบบ 5ส โดยเจ้าของพื้นที่

                ท้ายที่สุด เราเข้าเยี่ยมที่วิทยาเขตสุรินทร์อันเก่าแก่อีกแห่ง ตั้งอยู่ภายในบริเวณเนื้อที่กว้างขวาง มีวิชาที่เกี่ยวกับช้าง มีโครงการเกี่ยวกับท่องเที่ยวด้วยช้าง มีฟาร์มปศุสัตว์ มีการปลูกพืชมากมายหลายชนิดเดินดูกันจนตาลายยังไม่หมด มีอาคารอนุรักษ์เก่าแก่ไว้โชว์ในสภาพทีใช้งานได้ดีเยี่ยม กิจกรรม 5สของวิทยาเขตนี้อยู่ในขั้นดีพอควรในภาพรวม

                คณะของเราตกลงค้างคืนที่สุรินทร์อีกหนึ่งคืนเพื่อนเดินทางกลับตอนรุ่งเช้า ผู้อำนวยการวิทยาเขตสุรินทร์กรุณาเลี้ยงอาหารมื้อคำอีกมื้อ ผมแอบเพื่อนพ้องนั่งรถสามล้อเที่ยวรอบเมืองสุรินทร์ยามค่ำคืนขณะฝนปรอยปรายเบา ๆ สารถีชั้นเยี่ยมเป็นชายร่างแกร่งคะเนอายุราว 50 เศษ กลิ่นสุราคละคลุ้งโชยลมแตะจมูกตลอดเส้นทาง รถสามล้อมีสภาพไม่ต่างจากคนถีบ รถก็เก่าคนก็แก่ ถีบไประยะหนึ่งโซ่ฟรี แกก็ลงเข็ญ เข็ญแล้วก็กลับขึ้นมาถีบ ผมก็ชวนคุยไปเรื่อย วนรอบเมืองได้หนึ่งรอบ ผมมอบให้แกหนึ่งร้อยบาทตอนลงจากรถ ด้วยคำจากลาว่า สุราเป็นระยะๆ นะ เหลือเก็บไว้ซ่อมรถด้วยแกรับเงินด้วยรอยยิ้มพร้อมเช็ดมุมปากก่อนจูงรถจากไป
(บันทึกปี2546)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น