บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

พระพุทธศาสนากับความคิดในแง่บวก

พระพุทธศาสนากับความคิดในแง่บวก
โสภณ เปียสนิท
……………………..

                ความคิดในแง่บวกก็คือความคิดในเชิงสร้างสรรค์หรือความคิดในแง่ดี ข้อนี้เป็นความคิดหลักในทางพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะมองในมุมไหน กล่าวอย่างนี้ก็หมายถึงว่าพระพุทธศาสนามีหลายมุมให้มอง หากจะเปรียบพระพุทธศาสนาเหมือนแก้วเจียระไนสารพัดนึกก็ได้ คือมีหลายเหลี่ยมหลายมุมให้ศึกษาได้ไม่หมดสิ้น

                ผมไม่ได้กล่าวลอย ๆ โดยไม่มีเหตุผลและไม่มีตัวอย่างนะครับ นักปราชญ์พระของเรา หลวงพ่อพุทธทาส เขียนเป็นคำกวีเผยแพร่ทั่วไปว่า เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา จงเลือกเอาแต่ดีเขามีอยู่ เป็นประโยชน์โลกบ้างช่างน่าดู ส่วนที่ชั่วอย่าไปรู้ของเขาเลยนี่ก็สอนให้ดูแต่ส่วนดี ถามว่ารู้ไหมว่าเขามีส่วนเลวรู้ แต่ไม่สนใจและไม่ให้ความสำคัญ เช่นบทต่อไปว่า จะหาคนที่ดีเพียงส่วนเดียว อย่าไปเที่ยวตามหาสหายเอ๋ย เหมือนค้นหาหนวดเต่าตายเปล่าเลย ฝึกให้เคยมองแต่ดีมีคุณจริง

                หลวงพ่อเจ้าคุณพระธรรมปิฏก (ประยุทธ ปะยุตโต) พระมหาปราชญ์อันดับหนึ่งของเมืองไทยในปัจจุบัน ท่านมองปัญหาต่าง ๆ ในแง่บวกเสมอ เช่นขณะที่เมืองไทยมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ท่านก็เทศน์ในทำนองว่า ควรจะพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ขณะที่การปฏิรูปการศึกษากำลังจะกลายเป็นประเด็นขัดแย้งทางสังคม โดยเฉพาะอย่างด้านศาสนา ท่านก็ออกมาชี้ว่า ไม่ใช่เรื่องของความขัดแย้ง แต่เป็นเรื่องของการจัดวางงานของคนหมู่มาก จัดวางกำลังคนให้เหมาะกับงาน

                ผมตักน้ำใส่แก้วครึ่งแก้วไว้หน้าชั้นเรียน นักศึกษามองไม่เหมือนกัน พวกหนึ่งมองแล้วบอกว่า น้ำหายไปไหนครึ่งแก้ว อีกพวกมองว่าแก้วมีน้ำอยู่ถึงครึ่งแก้ว สังเกตได้ว่าแนวคิดสองอย่างนี้อยู่กันคนละพวก ผลที่ได้จากความคิดนี้ย่อมจะไม่เหมือนกัน พวกที่หนึ่งจะตามหาให้รู้ว่าน้ำหายไปไหน เพราะใครเป็นคนทำให้หายไป พวกที่สองจะมองว่าใครตักน้ำมาใส่ไว้ให้ และจะได้ประโยชน์อะไรจากน้ำครึ่งแก้วที่มีอยู่

นักปราชญ์ทางวิชาการบางคนในโลกนี้ เป็นนักปราชญ์ (ซึ่งหมายถึงผู้มีความรู้) มีความรู้ไม่รอบด้าน หรือรู้เพียงด้านเดียว ศึกษาแต่เพียงด้านลึกของด้านใดด้านหนึ่ง แค่นั้นก็เพียงพอที่จะได้รับการยกย่องอย่างยิ่ง จากนักปราชญ์ประเภทเดียวกันอย่างกว้างขวาง เพราะอาศัยว่าปัจจุบันมีอยู่มาก ซึ่งถ้ามองตามแนวคิดเรื่องการประกอบอาชีพผมก็ว่าแนวคิดของครูสุนทรภู่ถูกต้องที่เขียนกลอนไว้ว่า อันความรู้รู้กระจ่างเพียงอย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล….” แต่หากจะมองแบบองค์รวม มองให้ถึงฐานรากของชีวิตมนุษย์ ความสุขความทุกข์ในการดำเนินชีวิตผมคิดว่าต้องใช้หลักการพุทธศาสนา ซึ่งมอง อันความรู้รู้กระจ่างเพียงอย่างเดียว…”ว่าเป็นแค่สูตรสำเร็จระยะสั้นในการแก้ปัญหาปากท้องเท่านั้น

แนวคิดเรื่องศาสนาและปรัชญาในการดำเนินชีวิตของคนในโลกมีอยู่มากมาย ได้มีผู้พยายามรวมกลุ่มจัดแถวให้เป็นกลุ่มเป็นก้อนศึกษาได้ง่ายโดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือพวกมองโลกในแง่ดี และพวกมองโลกในแง่ร้าย

พวกที่มองแต่แง่ดีเห็นว่าชีวิตนี้คือความสุข และการแสวงหาความสุขจากการดำเนินชีวิตให้มากที่สุดเท่าที่จะหาได้ต้องการอย่างไรก็ทำที่ตนต้องการ อีกพวกหนึ่งก็เอาแต่มองโลกในแง่ร้ายรู้เห็นสิ่งใดก็ว่าแย่ไปเสียทั้งหมด เช่นนักปราชญ์ฝรั่งเศษคนหนึ่งชื่ออนาโตลฟรังส์ มองว่าชีวิตนี้คือทุกข์ และได้เสนอแนวคิดที่เป็นลบมากมายพร้อมกับยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัดเจนจนชาวบ้านยกย่องว่าเป็นนักปราชญ์กับเขาคนหนึ่งเหมือนกัน ในที่สุดแล้วเมื่อเห็นว่าชีวิตนี้ไม่น่าอภิรมย์เขาได้พยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง จนประสบความสำเร็จในที่สุด

หันมาดูมุมมองทางพระพุทธศาสนา ซึ่งผมมองว่าเป็นแง่บวกแม้ว่าบางมุมมองจะมองตรง และค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่คนไม่ชอบ เช่นเรื่องทุกข์ ที่พุทธศาสนาเน้นว่าเป็นเรื่องหลักการสำคัญ แต่มุมมองด้านนี้ก็ยังแฝงแนวคิดในแง่ดีไว้ให้ด้วย เช่นเน้นหลักการเรื่องความทุกข์และการดับทุกข์ นั้นท่านชี้ ให้กำหนดรู้ตามสภาพที่มันเป็นจริง กล่าวง่าย ๆ ได้ว่า รู้เท่าเอาไว้กัน รู้ทันเอาไว้แก้

ท่านสอนว่าคนเราไม่ควรประมาทเพราะชีวิตนี้มีปัญหา (ทุกข์) ให้ต้องแก้ไขมากมาย นับตั้งแต่เรื่องร่างกายสวย ไม่สวย พองในส่วนที่ควรยุบ หรือยุบในส่วนที่ควรพอง ต้องบำรุงรักษาเพื่อความสะอาด ต้องขับถ่าย ต้องใส่ต้องเติม ไปจนถึงเรื่องทางด้านสภาพจิตใจ ที่มักจะมีเรื่องต่าง ๆ ต้องคิดปรุงแต่งให้เป็นอย่างนั้น ให้เป็นอย่างนี้ ซึ่งส่วนมากก็เป็นเรื่องที่จะนำความทุกข์ใจมาให้ทั้งนั้น

นี่เป็นเพราะอะไรกัน ถ้าไม่ใช่อิทธิพลของความคิดในแง่ลบ ดังนั้นการที่จะมีชีวิตอย่างมีความสุข ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดูแลความคิดของตนเองให้ดี ดูแลได้มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความตั้งใจจริงของแต่ละคน ควบคุมดูแลได้มากความสุขก็มากหน่อย ดูแลได้น้อยความสุขในชีวิตก็น้อยเพราะใจมักหาเรื่องที่เราคิดแล้วเดือดร้อนมาให้เสมอ หากควบคุมไม่ได้เลยเล่าจะเป็นอย่างไร ตอบง่าย ๆ ก็คือ บ้า

นายแดง มาจากครอบครัวที่ยากจนและอยู่ห่างไกล ไม่มีโรงเรียนระดับสูง ไม่มีรถยนต์วิ่งเข้าออกหมู่บ้าน ไม่มีเงินเพียงพอที่จะเรียนหนังสือได้ เขาไม่มองเห็นว่าปัญหาเหล่านี้เป็นอุปสรรค แต่กลับมองว่าปัญหาเหล่านี้เป็นบันไดที่เขาจะต้องก้าวไปตามลำดับขั้น จึงมาอาศัยวัดใกล้เมืองแห่งหนึ่ง เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านที่พักอาศัยและค่าอาหาร ปัญหาเป็นตัวเร่งความเพียรในด้านการศึกษาของเขาให้มากขึ้น ในที่สุดแล้วเขาประสบความสำเร็จในชีวิต

นายดำเป็นคนขี้โมโห หน้าตาบูดบึ้ง คิดเล็กคิดน้อย นินทาว่าร้าย ดื่มสุราเมรัย ไม่เคารพผู้อื่น โอ้อวด ยกตนข่มท่าน สอดส่องอยากรู้ความไม่ดีของผู้อื่นเพื่อจักได้นำไปเป็นข้อมูลในการโจมตีนินทา แม้จะทำงานหนักเพียงใดแต่ก็ไม่เป็นที่รักของเพื่อนพ้อง และไม่มีความสุขในการทำงาน จิตใจแห้งเหี่ยวเศร้าหมอง

วันหนึ่งได้กัลยาณมิตรตักเตือนแนะนำให้ศึกษาหลักธรรม สวดมนต์ไหว้พระ นั่งสมาธิบ้าง จึงทดลองดู เขาเริ่มจากการแผ่เมตตาก่อนนอนทุกวัน ตั้งความปรารถนาดีต่อทุกคนอย่างกว้างขวางไม่มีประมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ทะเลาะและมีความขัดแย้งกับเขายิ่งแผ่เมตตาให้เป็นพิเศษ หน้าตาของเขาหายบูดบึ้ง จิตใจหนักแน่นมากขึ้น เลิกคิดเล็กคิดน้อย นินทาผู้อื่นลดลง สุราเมรัยไม่ใช่ความสุขของเขาอีกต่อไป เขาเริ่มมีความเคารพผู้อื่นมากยิ่งขึ้น การศึกษาธรรมะทำให้เขารู้ว่าการชนะใจตัวเองเป็นเรื่องยากที่สุด การโอ้อวดและยกตนข่มท่านมิใช่ทางแห่งปัญญา คติที่ว่า รวงข้าวคราวสุกน้อม รวงลง รวงลีบชูรวงตรง สู่ฟ้า เฉกปราชญ์ฉลาดยิ่ง ยงถ่อม ตนนา คนโง่คิดโอ้อ้า อวดอ้างเสนอตนเป็นความจริงที่เขาได้เรียนรู้ ปัจจุบันเขามีความสุขกับการทำงาน มองเพื่อนร่วมงานเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขที่ต้องช่วยเหลือดูแลกัน

คนวัยทำงานอีกคนหนึ่ง เป็นโรคมะเร็งในระยะใกล้ ๆ จะสุดท้าย หมอแนะนำให้เขากลับบ้านพักผ่อนให้สบาย ไม่ต้องรักษาใด ๆ อีกแล้ว เพราะถึงจะรักษาอย่างไรความหวังที่จะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมไม่มีแล้ว เพราะความที่เขาเป็นชาวพุทธเคยเรียนรู้เรื่องการสวดมนต์และการฝึกจิต(นั่งสมาธิ)มาบ้าง จึงคิดได้และตัดกังวลที่มีเสียจนสิ้น หันกลับมาศึกษาธรรมอย่างคร่ำเคร่ง วันเวลาที่เหลือการการสวดมนต์และนั่งสมาธิ จนลืมเรื่องมะเร็ง หลายเดือนต่อมาเขาไปตรวจที่โรงพยาบาลเดิมอีกครั้ง แปลกแต่จริง แม้แต่หมอก็หาสาเหตุไม่พบว่าหายไปได้อย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น