บทความที่ได้รับความนิยม

วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

นักศึกษาที่สังคมต้องการ

นักศึกษาที่สังคมต้องการ
โสภณ  เปียสนิท
...............................

                ช่วงหน้าร้อนอย่างนี้ หัวหินอยู่ในใจของคนต่างถิ่นเสมอ คำที่กล่าวนี้ผมคิดขึ้นได้เพราะวัดจากความรู้สึกของผมเองเมื่อครั้งยังเป็นคนต่างถิ่น ยังไม่ได้มาเป็นชาวหัวหิน อยากหนีความร้อนตับแลบจากเมืองกาญจน์มาพักผ่อนที่หัวหิน เมืองชายทะเลเสน่ห์สูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังจากรดน้ำดำหัวญาติโกโหติกาแล้ว แปลกอยู่ที่ว่า เมื่อมาเป็นคนหัวหินแล้ว ในช่วงหน้าแล้งผมกลับคิดถึงที่อื่น ๆ ผมหมายถึงจังหวัดกาญจนบุรีเป็นกรณีพิเศษ เพราะเป็นบ้านเกิดเมืองนอน

                การศึกษาในหน้าร้อนของระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ขึ้นไปถึงระดับปริญญาดูว่าขาดความเข้มข้นลงไปบ้าง เพราะจำนวนนักศึกษาที่ลงเรียนนั้นมีจำนวนน้อยลง น้อยทั้งจำนวนคน และจำนวนหน่วยกิต เนื่องจากมีช่วงเวลาที่จำกัด

                ราชมงคลหรือสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น มหาวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเวลาอันไม่นาน จากคำว่ามหาวิทยาลัย (มหา แปลว่าใหญ่ +วิทยะ แปลว่าความรู้ +อาลัย แปลว่าแหล่ง สถานที่) รวมแล้วหมายความว่าแหล่งความรู้อันยิ่งใหญ่

                ความเปลี่ยนแปลงน่าจะอยู่ที่ระดับการศึกษาที่จัด จากเดิมที่จัดการศึกษาระดับ ปวส. 70% และระดับปริญญา 25% ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต (สูงกว่าปริญญาตรีแต่ไม่ถึงปริญญาโท) อีกราว 5% มาสู่การจัดการศึกษาเน้นที่ปริญญาตรี-โท และเอกตามศักยภาพที่มีคือถ้ายังไม่มีความพร้อมก็เปิดเท่าที่มีไปก่อน สำหรับราชมงคลวังไกลกังวล ภายใต้คำขวัญที่ว่า ประทีปแห่งความรู้ ประตูสู่ภาคใต้ ก็อยู่ในช่วงระยะเวลาแห่งการปรับเปลี่ยนลดระดับ ปวส.ลงและเพิ่มจำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นเรื่อย ๆ ขณะนี้อยู่ระหว่าง 50:50

                ผมเขียนเรื่องมหาวิทยาลัย หรือแหล่งความรู้อันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ มีความมุ่งหมายแสดงความคิดเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยที่มีผลลัพธ์ตรงตามความมุ่งหวังที่ได้ตั้งไว้มากน้อยเพียงใด จากมุมมองเชิงปัจเจกชน (ก็มุมมองส่วนตนนั่นแหละ เขียนให้อ่านยากไปอย่างนั้นเอง)

                จากการคลุกคลีวงในอยู่ทุกวันนี้ ผมขอเสนอแนวคิดให้เป็นหัวข้อวิวาท (คำนี้ควรอ่านว่าวิวาทะ ห้ามอ่านวิวาท เพราะความเดิมกับความหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันต่างกันค่อนข้างมาก เพราะวิวาททำให้หัวร้างข้างแตก วิวาทะทำให้เกิดปัญญา) ให้ท่านผู้อ่านได้ช่วยกันพิจารณา และถ้าเป็นไปได้เสนอแนวคิดของท่านกลับมาถึงผม ก็จะได้เกิดการวิวาท เอ้ยวิวาทะสมตามความหมายดั้งเดิม คือจะได้เกิดปัญญา

                นักศึกษาสมัยนี้ (สมัยก่อนก็น่าจะเหมือนนี้) มีลักษณะที่ควรได้รับการปรับปรุงอยู่หลายประการ เช่น ติดวัตถุนิยม ชอบเสพมากกว่าสร้าง ใจเร็วด่วนได้ ใช้เงินเก่งแต่ไม่คิดหาเงิน คิดถึงตัวเองไม่มีความคิดเพื่อส่วนรวม ไม่เห็นประโยชน์จากการดูแลใจตัวเอง ฯลฯ

                ติดวัตถุนิยมคือการเห่อตามแฟชั่นจนเกินพอดี ยี่ห้อต้องของนอกดีกว่าของใน ของแพงดีกว่าของถูก ยึดดาราไทยและเทศเป็นแม่แบบในการดำเนินชีวิต การแต่งกายและเครื่องประดับตามหรือนำสมัยเสมอ สายเดี่ยว เอวต่ำ โชว์สะดือใส่ตุ้มหู แฟชั่นล่าสุดกำลังหันมาทางการแต่งกายแบบแขก น้ำหอม และการดื่มกินเน้นที่ความหรูหรามากกว่าคุณค่า

                ชอบเสพมากว่าสร้าง ชอบซื้อมากกว่าการทำเพื่อขายเอง ชอบเป็นลูกน้องกินเงินเดือนมากกว่าการเป็นเจ้าของร้านที่ขณะนี้รัฐบาลหันมาสนับสนุนการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อย (Small and Medium Enterprises) อย่างมากเพื่อจะแก้ปัญหานี้ในระดับประเทศ เรามีรถมากมายแต่เราไม่ค่อยได้ผลิตรถ และเราต้องซื้อน้ำมัน เราซื้อโทรศัพท์มือถือไม่เคยคิดสร้างมือถือ เราต้องการมีคอมพิวเตอร์ แต่เราไม่อาจสร้างคอมพิวเตอร์หรือส่วนใด ๆ ที่เกี่ยวกับคอมฯ ผมกำลังหมายถึงภาพรวมทั้งประเทศนะครับ

ใจเร็วด่วนได้ ไม่อดทนต่อความต้องการของตนในทุกเรื่อง ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร สอบตกก็คิดเอาง่ายว่าการอ้อนวอนอาจารย์ให้สอนพิเศษในทันทีเพื่อจะได้จบทันเพื่อน แทนที่จะพิจารณาหาทางแก้ไขในระยะยาว ไม่คิดแก้ไขปัญหาจากตัวเองก่อน แต่จะแก้ที่ผู้อื่นก่อน เรียนไม่ทันเพื่อน มีความรู้ไม่ทันสอบก็แก้ปัญหาโดยการลอกหรือทุจริต (ตามที่เป็นข่าวโด่งดังเมื่อไม่นานมานี้)

ใช้เงินเก่งแต่ไม่คิดหาเงิน ข้อนี้น่าจะเป็นภาพรวมของสังคมที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ได้สั่งสอนให้เด็กรู้จักคุณค่าของเงินและความยากลำบากของการหาเงินมาตั้งแต่เล็ก ทุกอย่างหาให้หมดขออย่างเดียวให้เรียนได้ผลดีดี ซึ่งน่าจะเป็นความเข้าใจผิดของพ่อแม่ ลูกจึงเรียนรู้จากการแบมือมากกว่าการใช้มือ

คิดถึงตัวเองไม่มีความคิดเพื่อส่วนรวม ข้อนี้โดยทั่วไปแล้วน่าจะเหมือนกันทุกคน นึกถึงภาพของนักศึกษาจากส่วนต่าง ๆ ของประเทศมาเข้าสู่ระบบการศึกษา ด้วยพื้นฐานความคิดว่าจะยกระดับฐานะทางสังคมของตนขึ้นด้วยการศึกษา ระหว่างเรียนยิ่งเหมือนอยู่ในสนามแข่งขันเพื่อความอยู่รอด พ่อแม่ ญาติ สังคม ประเทศชาติอยู่ข้างหลังห่างไกลความนึกคิดไปตามลำดับ

                ไม่เห็นประโยชน์จากการดูแลใจตัวเอง ครับสำหรับข้อนี้ผมกำลังลากจูงเข้าสู่ความคิดในเชิงศาสนา ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องจริงที่ปรากฏอยู่ นี่เฉพาะนักศึกษาที่เป็นพุทธเท่านั้นนะครับ สำหรับนักศึกษาที่นับถือศาสนาอื่น นับว่าโชคดีเพราะต่างมีวิธีดูแลเยาวชนของเขาอย่างดี ด้วยการวางระเบียบกฏเกณฑ์ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนเป็นลำดับ เช่นการไปโบสถ์วัดอาทิตย์ของศาสนาคริสต์ และการทำละหมาดของอิสลาม ผมยังมองว่าสำหรับนักศึกษาที่นับถือศาสนาพุทธยังไม่ได้รับการปลูกฝังอย่างพอเพียงจากสถานศึกษา

                จากทุลักษณ์ของนักศึกษาที่ควรปรับปรุงเหล่านี้ ผมเห็นว่าสถานศึกษาหรือมหาวิทยาลัยยังไม่มีแนวทางแก้ไขในทางตรงที่เด่นชัด เพราะสถานที่ หลักสูตร และครูบาอาจารย์ ที่รวมกันเป็นมหาวิทยาลัย เท่าที่มีที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเรียนต้องศึกษาไม่ใช่แนวทางตรงที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้

                ผมมีความคิดเห็นว่าทุลักษณะเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นข้อ ติดวัตถุนิยม ชอบเสพมากกว่าสร้าง ใจเร็วด่วนได้ ใช้เงินเก่งแต่ไม่คิดหาเงิน คิดถึงตัวเองไม่มีความคิดเพื่อส่วนรวม แก้ไขได้ด้วยการแก้ไขข้อสุดท้ายคือ ไม่เห็นประโยชน์จากการดูแลใจตัวเอง

                เริ่มจากระบบการศึกษาที่ผู้เกี่ยวข้องต้องร่วมแรงรวมใจกันเปลี่ยนทุลักษณะเป็นสุลักษณะ คือเปลี่ยนจากไม่เห็นประโยชน์จากการดูแลใจตัวเอง เป็น เห็นประโยชน์จากการดูแลใจตัวเอง แล้วจัดวางระบบดูแลใจของพุทธศาสนิกให้อยู่ร่วมกันกับระบบการศึกษา จากสิ่งที่มีส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งสามด้าน สถานที่ หลักสูตร และครูบาอาจารย์

                ปรับสถานที่ให้มีสภาพเหมาสมสำหรับการดูแลจิตใจ สวยงามร่มรื่นสงบเย็น หลักสูตรมีรายวิชาที่ส่งเสริมแง่คิดเชิงวิเคราะห์อย่างกว้างขวางเป็นระบบในด้านศาสนา เน้นการปฏิบัติฝึกสติดูความคิดของตน มีเกณฑ์มาตรฐานหรือตัวบ่งชี้ (KPI) เน้นการปฏิบัติอย่างน้อยคนละสิบนาที ครูบาอาจารย์ ต้องทำเป็นตัวอย่าง คือต้องฝึกสติหรือปฏิบัติธรรมอย่างน้อยคนละหนึ่งชั่วโมงต่อวันทุกคน ใครไม่ทำถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์ประเมิน

                ผมนำเสนออย่างนี้คุณผู้อ่านเห็นว่าผมสมควรได้รับ ดอกไม้หรือก้อนอิฐ มากหรือน้อยเพียงใด และจากใคร?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น