บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

วันมาฆบูชา (บันทึกปี2545)

วันมาฆบูชา (บันทึกปี2545)
โสภณ เปียสนิท
......................................

                วันมาฆบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นวันพระขึ้น 15 ค่ำ ดวงจันทร์เต็มดวงเสวยมาฆฤกษ์ ในฐานะที่ผมเป็นชาวพุทธ อาศัยเกิดมาในสังคมพุทธ ดำรงวิถีชีวิตแบบพุทธ และได้บวชเรียนพระพุทธศาสนา และสรรพวิทยาการต่าง ๆ จากสถานศึกษาของพุทธ ทำให้ผมหวลคำนึงว่าควรดำเนินการอย่างใดในวันสำคัญเช่นนี้ เพื่อให้เหมาะสมในฐานะพุทธศาสนิกชนที่ดี ดังนั้นในตอนเช้าผมพาครอบครัวไปตักบาตรทำบุญในตอนเช้า แถว ๆ ตลาดฉัตรไชย พบว่ามีผู้มีจิตศรัทธาในบาตรกันมากหน้าหลายตา จนทำให้พระภิกษุสามเณรรับบาตรจนล้นบาตรออกมาจนเต็มย่าม บางรูปต้องใส่ถุงขนขึ้นยานพาหนะทั้งมอเตอร์ไซด์ รถกะบะ รถตุ๊กตุ๊ก ตามแต่จะหาได้ นับเป็นภาระหนัก ของพระคุณเจ้าเป็นอย่างยิ่ง เห็นแล้วน่าหนักใจแทนว่าท่านจะนำอาหารเหล่านั้นไปแบ่งสรรปันส่วนแก่ใครอย่างไรให้ได้ประโยชน์ให้มากที่สุด เพื่อสนองศรัทธาของสาธุชน

                ผมเกิดความคิดขึ้นว่า ครั้งหน้าทำบุญในวันสำคัญอย่างนี้ชาวพุทธควรต้องหาวิธีช่วยพระคุณเจ้าแบ่งเบาภาระกันบ้าง เช่นการเลื่อนวันทำบุญออกไปสักวันหนึ่ง บางกลุ่มบางคนอาจเปลี่ยนวันทำบุญตักบาตรในวันก่อนที่จะถึงวันสำคัญสักหนึ่งวัน หรือหลังวันสำคัญหนึ่งวัน ทำดังนี้มีข้อดีก็คือทำให้ภาระของพระคุณเจ้าลดลงได้มาก และทำให้ท่านได้รับไทยทานเพิ่มขึ้นได้อีกถึงสองวัน เพราะปกติพระท่านฉันทุกวันอยู่แล้ว และฉันได้จำนวนจำกัดแค่พออิ่ม หากไปรวมใส่บาตรกันอยู่เฉพาะวันสำคัญ ท่านก็จะอิ่มเฉพาะวันสำคัญ ส่วนที่เหลือก็ต้องบริจาคต่อ เป็นภาระของลูกศิษย์ลูกหาจะจัดการกันต่อไป บางแห่งถ้าหมู่ศิษย์ไม่เอาใจใส่ดูแลให้ดีอาหารบางส่วนอาจถูกปล่อยทิ้งไว้จนเน่าเสียอย่างน่าเสียดาย ส่วนวันอื่น ๆ บางวัดอาจมีไม่พอฉันก็เป็นได้

                บางคนอาจจะยังมีข้อสงสัยว่า ทำบุญวันมาฆะแต่ไปทำก่อนหรือหลังหนึ่งวันแล้วจะได้บุญเท่ากันหรือเปล่า ผมต้องขอยืนยันว่าการทำบุญจะให้ได้บุญมากหรือน้อยไม่เกี่ยวกับวันเดือนปี หรือ การปรารภอะไร แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราทำอย่างไร การจะได้บุญมากนั้นหาก ทานคือสิ่งของที่จะให้บริสุทธิได้มาด้วยการทำการโดยชอบ ผู้ให้ทานบริสุทธิคือตั้งใจดี ผู้รับบริสุทธิตามลำดับเช่นมีศีลบริสุทธ มีสมาธิบริสุทธิ หรือมีปัญญาบริสุทธิ เจตนาที่จะทำทานก็ถูกต้องทั้งก่อนทำทาน ขณะกำลังทำทาน และภายหลังการทำทาน ประกอบด้วยองค์เหล่านี้แล้วการทำทานทุกครั้งถือได้ว่าได้ผลสมบูรณ์ตามหลักการทางพระศาสนาแล้ว

                การปรารภสิ่งใดทำทานก็ไม่สำคัญเช่นกัน ขอให้ทำถูกหลักการดังที่เขียนแล้วถือว่าได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยแน่นอน ขอยกเรื่องจากธรรมบทขุททกนิกายมาเล่าสักเรื่อง ครั้งหนึ่งหลานชายของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี มหาเศรษฐีใจบุญบังเอิญทำตุ๊กตาตัวโปรดหล่นแตก มีความเสียอกเสียใจอย่างยิ่ง ร้องไห้แล้วร้องไห้อีก เพราะคิดว่าตุ๊กตาอันเป็นสุดที่รักตายจากไปเสียแล้ว ท่านเศรษฐีทราบเรื่องตั้งแต่ต้น มีใจใคร่จะทำบุญกุศลอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว จึงคิดหาวิธีดับความเศร้าโศกของหลานด้วยการเรียกหลานมาใกล้แล้วสอนให้รู้และยอมรับความเป็นจริงของชีวิตว่า มีการเกิด การดำรงอยู่ แล้วก็ต้องดับ หรือแตกสลายไปเป็นปกติ แล้วสรุปว่าขอให้หลานคิดว่าตุ๊กตาสิ้นชีวิตตามปกติไปแล้ว เราจะต้องช่วยกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ตุ๊กตา เป็นอันว่าหลานปลดเปลื้องความโศกลงได้ เพราะความฉลาดในการทำบุญของท่านเศรษฐี จะเห็นได้ว่าแม้การปรารภตุ๊กตาแตกแล้วทำบุญก็ยังได้บุญ

                อาจจะยังมีบางคนมีความคิดแบบอนุรักษ์นิยม คือยังคิดว่า แหมจะทำบุญวันมาฆะดันแนะนำให้ไปทำวันก่อนหนึ่งวัน หรือหลังหนึ่งวัน แล้วจะเป็นการทำบุญวันมาฆะได้อย่างไร ไม่เอาฉันต้องทำวันมาฆะให้ได้ก็ไม่เป็นไรครับ แต่ผมขอเสนอให้ทำบุญตักบาตรด้วยข้าวสารอาหารแห้ง เพื่อว่าพระคุณเจ้าท่านจักได้ให้มัคทายกมัคทายิกาเก็บรักษาไว้ใช้ประโยชน์ได้ครบตามจำนวนโดยไม่บูดเน่าไปเสียก่อน วิธีนี้ก็ถือว่าใช้ได้ครับ ได้บุญเท่ากันแหละครับไม่เป็นไร

                บางคนคิดว่าไม่ได้หรอกปู่ย่าตาทวดฉันทำบุญตักบาตรกันด้วยข้าวสุกอาหารสดในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนากันมาตลอดไม่เคยขาด จะให้เลื่อนวัน จะให้ใส่ของแห้ง โอ้ย ไม่ได้หรอก เอ้าก็ไม่เป็นไรครับ เพราะกลุ่มคนทำบุญได้แบ่งกันออกไปบ้างแล้ว ทำบุญล่วงหน้าหนึ่งกลุ่ม ทำบุญหลังจากวันสำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง ทำบุญด้วยข้าวสารอาหารแห้งกลุ่มหนึ่ง และกลุ่มอนุรักษ์ทำบุญตามปกติอีกกลุ่มเป็นอันว่าภาระของพระเจ้าพระสงฆ์ในเรื่องการรับบิณฑบาตรเบาลงพอสมควรแล้ว

                การทำบุญอย่างชาญฉลาดแบบใคร่คราวญก่อนแล้วจึงทำเช่นนี้ ตามหลักการแล้วอาจได้บุญมากกว่าทำบุญตามปกติด้วยนะครับ ใช่หรือไม่ขอให้พิจารณาจากเรื่องนี้ครับ ครั้งหนึ่งหญิงชาวบ้านผู้หนึ่งชักชวนกันทำบุญตักบาตร ปรากฏว่าในคณะของเธอใส่ข้าวยาคู (ข้าวต้ม) ร้อน ๆ ลงไปในบาตรพระปัจเจกพุทธะรูปหนึ่ง พระท่านร้อนเพราะบาตรของท่านเป็นบาตรเหล็ก ท่านจึงต้องขยับมือเปลี่ยนที่จับอยู่ไปมา เธอสังเกตเห็นอาการของพระปัจเจกพุทธรูปนั้น จึงเกิดความคิดขึ้นว่า เราต้องถวายที่รองบาตรให้แก่ท่าน แต่ไม่ได้เตรียมอะไรไปเลย จึงไม่รู้จะหาอะไรถวาย มีแต่ที่สำหรับใช้เกล้าผมอยู่หนึ่งอันสมัยนั้นเรียกว่า เทริด อ่านว่าเซิด ด้วยปัญญาไวเธอถวายเทริด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น