
การศึกษาหลักธรรมช่วยโลก
โสภณ เปียสนิท
…………………….
ภาพของแดง เด็กหนุ่มผิวสีเข้มรูปร่างค่อนข้างผอมแต่ดูแข็งแรง ปรากฏร่างขึ้นในความทรงจำ ยามที่ผมนั่งอยู่หน้าแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ ใจครุ่นคิดหาเรื่องราวที่มีสาระในทางศาสนามานำเสนอท่านผู้อ่านบทความนี้ เป็นเพราะใจของผมกำลังคิดอยากเขียนอะไรที่เกี่ยวกับการศึกษา เนื่องจากวันที่ 13 มกราคม ที่ผมกำลังเขียนอยู่นี้เป็นวันเด็ก เมื่อคิดเกี่ยวกับเด็ก ในฐานะที่ผมเป็นครู ผมมักจะคิดเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาของพวกเขาเหล่านั้น
เมื่อปีพุทธศักราช 2536 ผมตัดสินใจเปลี่ยนแปลงชีวิตครั้งใหญ่ เดินทางเข้าไปอาศัยอยู่กลางมหานครอันยิ่งใหญ่ มีประชากรมากกว่า 10 ล้านคน ว่ากันว่า จำนวนที่แท้แล้ว มากกว่านี้มาก แต่เป็นประชากรแฝง คือไม่ได้ย้ายชื่อเข้ามาพักอาศัย มาแต่ตัว จึงอยู่นอกบัญชีสำมะโนประชากร สอบเข้ารับตำแหน่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง
พักอาศัยอยู่กับครอบครัวของน้องชายที่บ้านเช่าหลังห้างสรรพสินค้าพาต้า ซึ่ง ณ ที่แห่งนี้เองที่ทำให้ผมพบนายแดง ซึ่งเป็นน้องชายภรรยาของน้องผม ยามว่างในช่วงที่ผมยังระหว่างการหางานทำ มีโอกาสได้พบกับเขา แลกเปลี่ยนความคิดกันบ่อยครั้ง
วันหนึ่งระหว่างการพูดคุย เขาได้ถามถึงเรื่องการบวชว่ามีประโยชน์อย่างไร ผมเห็นโอกาสที่จะเอ่ยถึงหลักการทางศาสนาแก่เขา เพราะสังเกตเห็นความสนใจและมีท่าทีมีความจริงจัง และอีกประการหนึ่ง หลักการทางศาสนามีอยู่ว่า “การให้ธรรมเป็นทานเหนือกว่าการให้ทั้งปวง” (พุทธพจน์) ตรงนี้ชี้ให้เห็นว่าการสอนหลักธรรมในทางศาสนาเหนือกว่าการให้อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทองหรือสมบัติพัสถานใด ๆ
เริ่มอธิบายถึงการศึกษาในโลกนี้ว่ามีสองด้านด้วยกัน ด้านหนึ่งศึกษาวิชาการ และอีกด้านหนึ่งศึกษาหลักธรรม การศึกษาวิชาการเพื่อการดำรงชีวิต ศึกษาด้านหลักธรรมเพื่อความสุขแห่งการดำรงชีวิตอยู่นั้น หากคนเราดำรงชีวิตอยู่ได้ แม้จะยาวนานสักปานใด แต่ไม่มีความสุข หรือสุขน้อยแต่ทุกข์มาก การดำรงอยู่นั้นจะมีประโยชน์อะไร ดำรงอยู่โดยไม่ได้ทำความดีใดเลย การดำรงอยู่นั้นประเสริฐกว่าดิรัจฉาน หมูหมากาไก่อย่างใด
บ่ายวันนั้น เรานั่งหน้าร้านเช่าเสื้อผ้า ชุดนักร้อง ข้างนอกผู้คนหน้าตาเคร่งเครียดก้าวเดินผ่านไปผ่านมาจนตาลาย แดดยังร้อนแรง ฝั่งตรงข้ามถนนมีร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ ชายแก่เจ้าของร้านผมขาวโพลน นั่งเหงื่อหยดบนเก้าอี้ตัวเก่า เบื้องหน้ามีพัดลมไม่มีตะแกรงครอบเป่าไล่ความร้อน เด็กหนุ่มสองคนกำลังทำงานซ่อมเครื่องยนต์อย่างคร่ำเคร่ง

เขาถามว่า “เพราะเหตุใดคนเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกวัยรุ่นจึงไม่สนใจศาสนา” ผมตอบโดยไม่ต้องคิดมาก “ก็เพราะคนเรามีความคิดเพียงแค่จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไรเท่านั้น โดยไม่ได้คิดว่าจะดำรงชีวิตให้มีความสุขได้อย่างไร บางคนอาจคิด แต่ไม่รู้จักว่าความสุขที่แท้เป็นอย่างไร จึงสุขบ้างทุกข์บ้างไปตามเรื่อง เกิดความทุกข์ขึ้นก็โทษฟ้า โทษดิน โทษพรหมลิขิต โทษผี วิญญาณมารร้ายต่างๆ ก็คิดดูว่าเราควรเป็นคนประเภทไหน” เขามีท่าทีกำลังใช้ความคิดอยู่อย่างหนักระยะหนึ่ง
“การศึกษาหลักธรรมทำให้มีความสุขได้อย่างไร?” ในที่สุดเขาก็ถามต่อหลังจากใช้เวลาตรึกตรองอยู่นาน ผมปล่อยให้เขานั่งคิดโดยไม่ขัดจังหวะ คำถามง่าย ๆ อย่างนี้ ไม่น่าเชื่อว่ายามที่จะตั้งใจตอบให้ดี เพื่อให้เด็กหนุ่มคนหนึ่งซึ่งมีพื้นความรู้ทางศาสนาอยู่อย่างจำกัดฟังได้ง่าย และเข้าใจได้ง่าย กลับเป็นเรื่องยาก ผมค่อย ๆ ตั้งสติและหาคำตอบอย่างช้า ๆ
“ต้องเข้าใจก่อนนะว่า การศึกษาเป็นบันไดขั้นแรกของการก้าวไปสู่ความสุข หากจะเปรียบการศึกษาธรรมเหมือนการเดินทางก็คงจะพอถือได้ว่า เป็นแค่การเตรียมแผนที่ ให้รู้ว่าทางเดินไปสู่ความสุขนั้นไปทางไหน คนส่วนมากในโลกนี้ ไม่มีแผนที่ และไม่รู้ทางไปสู่ความสุขที่แท้ บ้างก็เห็นเงินว่าคือความสุข จึงตั้งหน้าตั้งตาพยายามหาเงินให้ได้มากที่สุด โดยไม่เลือกวิธีว่าจะได้มาอย่างไร หรือจะเบียดเบียนใคร บ้างก็เห็นว่าการดื่มกินเป็นความสุข การท่องเที่ยวเป็นความสุข การเป็นผู้มีอำนาจเป็นความสุข ฯลฯ แล้วต่างคนต่างก็เอาชนะคะคานกันด้วยแย่งชิง กล่าวได้ว่าเป็นการหาความสุขบนความขัดแย้ง คิดดูก็แล้วกันว่ามันจะสุขได้อย่างไร” ผมหยุดเว้นระยะหลังจากรายยาวโดยไม่ปล่อยให้เขาถาม
และกล่าวต่อว่า “เมื่อได้แผนที่มาแล้วก็ต้องก้าวเดิน คือต้องปฏิบัติด้วย จึงจะได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธแท้ เพราะจะรู้ความจริงว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งนั้นเป็นที่พึ่งอย่างไร”
เขาถามสั้น ๆ ว่า “เอาอย่างนี้ดีกว่านะ ถามตรงเลยว่า การเรียนรู้หลักธรรมช่วยในการศึกษาได้หรือไม่?” ผมยิ้มอย่างอารมณ์ดี “แค่เรื่องการศึกษาแค่นี้เป็นเรื่องเล็กน้อยเท่านั้น ถามให้ตรงหน่อยได้ไหมต้องการรู้เรื่องอะไร เพราะคำนี้ค่อนข้างกว้าง” เขานั่งคิดนิดหนึ่งแล้วกว่าวว่า “ผมอ่านหนังสือแล้วมันไม่ค่อยจำ ทำอย่างไรให้จำได้ดี เรียนธรรมะแล้วช่วยได้ไหม?” เขามุ่งตรงประเด็นที่เขาต้องการ
ผมตอบโดยไม่ต้องคิด “ช่วยได้แน่นอน แต่เราต้องทำอย่างจริง ๆ นะ มันก็เหมือนกับการปลูกต้นไม้ใหญ่ ต้องเตรียมพื้นที่ เตรียมหลุม หาพันธุ์ ปลูก ใส่ปุ๋ย รดน้ำ ไล่แมลง อย่างน้อยก็ 4-5 ปี จึงจะให้ผล รู้นะว่าต้องใช้อะไรบ้างในการเตรียม”
เขานิ่งคิดนิดหนึ่งก่อนตอบว่า “ก็ต้องขยัน อดทน มุ่งมั่น เอาจริงเอาจัง” ผมยิ้มให้พร้อมผงกศรีษะยอมรับว่าถูกต้อง และเสริมว่า “ใช่แล้ว เดี๋ยวจะบอกวิธีเพิ่มความจำอย่างง่ายให้ ตามหลักการที่พระสอน นักเรียนนักศึกษาที่ความจำไม่ดี เพราะไม่มีสมาธิ คือปล่อยใจคิดวุ่นวายตั้งแต่เล็กยันโต ไม่เคยฝึกให้มันนิ่ง มั่นเอาแต่วิ่ง จึงเป็นจิตที่ไม่ควรแก่การงาน ใช้มันเรียนก็ไม่ได้ ใช้งานมันก็ไม่ดี เคยไหมเวลาจับหนังสือวางตรงหน้าเปิดปั๊บ ตาดูอยู่ที่หน้าหนังสือ แต่ใจมันไปไหนแล้วไม่รู้” ผมมองเห็นเขาพยักหน้า “เคยครับ บ่อยด้วยซ้ำ”
ผมค่อยๆ กล่าวต่ออย่างใจเย็น “ดังนั้น ต้องเห็นความสำคัญของการทำใจให้หยุด ที่ปล่อยมันวิ่งวุ่นอยู่อย่างนั้นปล่อยได้ จะฝึกให้มันหยุดบ้างไม่ได้เชียวหรือ” เขานิ่งคิดเคร่งเครียดสีหน้าเอาจริงเอาจัง “ผมอยากฝึกบ้าง” มองเห็นแววตาของเขาแล้วพอมองออกว่าเขาเอาจริง “แต่มันต้องเอาจริงและต่อเนื่อง จะไหวหรือ” เขายิ้มน้อย ๆ ไม่ตอบคำ แต่ดวงตามีความมุ่งมั่นอย่างเด่นชัด แปลกจริง ไม่น่าเชื่อว่า ดวงตาจะเป็นหน้าของดวงใจให้ผมเห็นได้ชัดเจนถึงเพียงนี้
ผมพยักหน้า “ถ้าจะเอาจริงก็ลองดู เริ่มแรกมองภาพพระ หรือดวงแก้วให้จำได้ แล้วกำหนดนึกไว้ในใจแล้วน้อมภาพไปไว้ที่กลางกาย เหนือสะดือสองนิ้ว นึกให้เหมือนมีด้ายขึงจากด้านหน้าทะลุหลัง จากด้านขวาทะลุซ้าย วางภาพไว้ตรงจุดที่ตัดกัน แบบนี้เรียกว่า “บริกรรมนิมิต” ผมมองหน้า ว่าเขายังสนใจอยู่หรือไม่ “นึกภาวนาคำว่า “สัมมา อรหัง” เหมือนหนึ่งเป็นชื่อของดวงแก้ว หรือพระองค์ที่เรากำหนดอยู่ นี่เรียกว่า “บริกรรมภาวนา” ทำอยู่อย่างนี้แหละ ทำน้อยได้ผลน้อย ทำมากได้ผลมาก และเร็ว คิดให้ดีว่าจะเอาแบบไหน วิธีการที่สอนนี้พอเข้าใจหรือไม่” ผมเปิดโอกาสให้เขาได้ถามในตอนท้าย
จำได้ว่าเขาทบทวนการปฏิบัติอยู่หลายคำถาม จนหายสงสัยก่อนที่เราจะเลิกเจรจา หลังจากนั้นผมเห็นเขาเงียบ ๆ ไปไม่ค่อยได้ถามเรื่องนี้อีก ก็นึกว่าคงจะทำบ้างไม่ทำบ้างไปตามเรื่อง เหมือนเด็กหนุ่มคนอื่น ๆ ที่ผมเคยสอนมามากมายหลายคน จนกระทั่งผมสอบเข้ารับราชการได้ที่กาญจนบุรี และสอบย้ายมาเป็นครูที่ มทร. ราชมงคลวังไกลกังวล ปีกว่า ๆ ทำให้ผมลืมเรื่องนี้เสียสนิท แต่ผมยังได้ข่าวว่าเขาสอบเข้าเรียนวิศวะโยธาได้ที่บางมด และเรียนได้เกรด 3 กว่า ๆ ทุกเทอม จนกระทั่งอีกเกือบปีต่อมา เขาได้เขามาหาผมที่บ้านพักราชมงคล ผมจึงรู้ความจริงจากปากของเขาเองว่า วิชาพระพุทธศาสนาที่ผมแนะ ทำให้เรียนเก่งขึ้นอย่างอัศจรรย์ ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งดังที่เห็น นอกจากด้านการศึกษาแล้วเขายังเล่าเรื่องอื่น ๆ ที่ผมไม่เคยได้สัมผัส หลังการสนทนาทำให้ผมรู้และยืนยันได้ว่า เขาได้ผลจากการปฏิบัติธรรมจริงตามหลักการ วิชาการทางศาสนาช่วยให้การเรียนดีขึ้นแน่นอน และยังช่วยด้านอื่นทุก ๆ ด้านของชีวิตอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น