บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ผู้ใหญ่

ผู้ใหญ่

โสภณ  เปียสนิท

.......................................................

ผมเขียนบทความนี้ในวันที่ 24 มกราคม 2545 ซึ่งเป็นวันใกล้ ๆ วันสุดท้ายของเดือนแรกของปี กลิ่นปีใหม่ยังอบอวลอยู่ในความทรงจำ ปีใหม่ทุกปี คนที่อยู่ไกลบ้านเกิดเมืองนอนอย่างผมต้องกลับบ้านที่เมืองกาญจน์ทุกปี ก็ไม่ได้เป็นบทบัญญัติที่สลักสำคัญอันใด แต่เป็นความตั้งใจเท่านั้น เนื่องจากคิดเอาว่าคุณแม่วัยชราอายุหกสิบเจ็ดปี ท่านคงคิดถึงผม และมีความต้องการจะได้พบลูกหลานพร้อมหน้าพร้อมตา พร้อมทั้งครอบครัวด้วยก็ยิ่งดี

ปีนี้ก็เช่นเดียวกับปีก่อน ๆ ผมกลับพร้อมครอบครัว คืนวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ผมและญาติพี่น้องหลายครอบครัว รับประทานอาหารค่ำด้วยกันที่บ้านแม่ ดูแม่มีความสุขที่เห็นลูก ๆ หลาน ๆ มากันหลายคน และที่ขาดไม่ได้ มีน้ำอมฤตประกอบรายการเข้าด้วย พอประมาณ (ไม่ทราบว่าทำไมต้องมีน้ำอย่างว่านี้ด้วย ใครรู้ช่วยบอกที งานไหนงานนั้น และที่สำคัญเยาวชนเป็นกลุ่มที่ดื่มติดอันดับกับเขาด้วย)

                จำได้ว่าตอนเย็นวันนั้น มีเด็กเล็กบ้างใหญ่บ้างราวสิบกว่าคนวิ่งเล่นกันเป็นที่สนุกสนาน เจี๊ยวจ๊าวไปทั้งบ้าน ผมเดินไปทางโน้นมาทางนี้ พยายามทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่งานบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ พวกเด็ก ๆ ผ่านไปผ่านมา เดี๋ยวเรียกอา เดี๋ยวเรียกลุง ผมชักเริ่มครุ่นคิดเกี่ยวกับเรื่องวันเวลามากยิ่งขึ้น วันต่อมา ผมไปบ้านญาติคนหนึ่ง ขณะยืนคุยอยู่หน้าบ้าน เด็ก ๆ ข้างบ้านเดินมาถามว่า ตาป้าไปไหน? ผมสะดุ้ง เพราะไม่นึกว่าเด็กตัวนิดเดียวจะกล่าวคำหยาบคายได้ถึงเพียงนี้

อะไรกันนี่ ผมเผลอแป๊บเดียวกลายเป็นคนสูงอายุขนาดเรียกตาได้แล้วหรือนี่ ความไร้เดียงสาของเด็กที่เรียกผมครั้งนี้เหมือนกระจกเงาส่องให้ผมเห็นหน้าตัวเองได้จะจะอีกครั้ง บางครั้งความจริงก็ดูเหมือนจะหยาบคายไปได้เหมือนกัน หรือคุณว่าไม่จริง?

ผมเริ่มรู้สึกกลัวอยู่ในใจลึก ๆ แต่แม้ว่าผมจะพยายามค้นหาความรู้สึกของตัวเองว่ากลัวอะไร มันก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน หรือผมกลัวว่าจะได้ในสิ่งที่ผมไม่ต้องการจะได้ เช่นไขมันหน้าท้องที่ค่อย ๆ จับกลุ่มประท้วงเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ  กลัวว่าเรี่ยวแรงที่มีอยู่จะค่อย ๆ ตีตัวออกห่างหมางเมิน และผมกลัวจะไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ เช่นผมต้องการมีทรัพย์สิน ต้องการมีรูปร่างหน้าดี ต้องการมีผิวพรรณสวยงาม ต้องการความเป็นอมตะ (ว่าเข้านั่น)  ต้องการมีความสุขตามประสาโลก และ...

ไม่ว่าผมจะกลัวอย่างไรก็ตาม แต่ผมต้องแก่ และที่แน่ ๆ ต้องตาย ก็เพราะว่าความจริงมันฟ้องเห็นอยู่ซึ่งหน้าทุกทุกวัน คิดถึงเรื่องความแก่บ่อย ๆ แล้วพระท่านว่าเป็นสิ่งดีมีประโยชน์ เพราะทำให้เราทำใจได้กับทุกสิ่งการทำใจได้กับหลาย ๆ สิ่งนับเป็นเรื่องดีแล้ว แต่ถ้าทำใจได้กับทุกสิ่งถือว่าดีสูงสุดในพระศาสนาเลยนะครับ ดังนั้นการที่ผมเขียนเรื่องความแก่บ่อย ๆ ก็กรุณาอย่าเลิกอ่านกลางคันนะครับ ทนอ่านไปให้จบแล้วก็จะชอบ (ชิน)ไปเอง

คนในวัยสี่สิบกว่าอย่างผม ฝรั่งเรียกว่าวัยเริ่มต้น (Life begins forty.) แต่ตะวันออกเรามองต่างมุมกันครับ เรียกว่าวัยผู้ใหญ่ บางคนก็ว่า พอจะเรียกวัยเริ่มต้นได้เหมือนกัน แต่ขอต่อนิดหน่อยว่า  วัยเริ่มต้นแย้มฝาโลง กลายเป็นแง่ลบไป คำพูดอย่างนี้ชาวบ้านได้ยินแล้วมักโกรธเอาง่าย ๆ บางคนถึงกับไม่เผาผีกันเพราะเรื่องนี้ก็มี ความจริงบางอย่างมันก็แสลงใจจนไม่อยากได้ยิน

บางคนทำใจได้ก็ว่า ความแก่เป็นเรื่องธรรมชาติ ว่าแล้วก็พยายามปรับจิตปรับใจให้เข้ากับสภาพความแก่ ปรับทันบ้างไม่ทันบ้างตามแต่ความสามารถของแต่ละบุคคล บางคนปรับทันก็ดีไป บางคนปรับไม่ทันมาเสียคนเอาตอนสูงอายุก็มาก โดนธรรมชาติลงโทษเอาถึงสาหัสก็มี บางรายกลายเป็นเฒ่า..อะไรต่ออะไรเสียคนไป

คิดดูแล้วความเป็นผู้ใหญ่ในมุมมองของผม ควรจะต้องวัดเอาที่ความคิดความอ่านจะดีกว่าการที่จะไปวัดเอาตามอายุ เพราะหากวัดเอาตามอายุแล้วคนที่อยู่บนโลกใบนี้มานานจะหลงตัวเองได้ง่าย และมักเกิดทิฐิมานะ ไม่เคารพความคิดอ่านของคนที่อายุน้อยกว่า มักพูดติดปากว่า อ๋าย  ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อนแก่.. คำพูดแค่นี้ก็พอจะบอกความนัยได้แล้วว่า เอ็งไม่ต้องพูด

ผู้ใหญ่ในมุมมองของพระศาสนาท่านบอกว่า หากใครก็ตามมีคุณธรรมสี่อย่าง ถือได้ว่าเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะมีอายุมากหรือน้อยเพียงใด ผมขอนำหลักการทางศาสนามาเขียนไว้ตรงนี้เพื่อว่าท่านผู้อ่านไม่ว่าจะเป็นรุ่นไหน เกิดนึกสนุกว่า ไหนขอฉันลองเป็นผู้ใหญ่ดูสักพักซิ ท่านก็จะได้ประโยชน์ มากหรือน้อยก็แล้วแต่เปอร์เซ็นต์ที่ท่านจะทำได้

ข้อที่หนึ่งเรียกว่าหลัก เมตตา หมายถึงว่าเป็นผู้ใหญ่ต้องมีใจเมตตา เมตตามากก็เป็นผู้ใหญ่มาก เมตตาน้อยก็เป็นผู้ใหญ่น้อย ไม่มีเมตตาเลยก็ไม่ต้องพูดกัน ไม่ได้เป็นใหญ่กับเขาหรอก คิดดูแล้วก็น่าจะจริง เพราะโลกเราทุกวันนี้ที่ยุ่ง ๆ กันอยู่ก็เพราะว่าเราขาดเมตตาแก่กันและกัน หากทุกคนช่วยกันเมตตา อย่างน้อย ๆ ก็ให้อยู่ในใจ จึงจะแน่ใจได้ว่า ในสังคมนี้ต้องมีความสงบสุขเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ข้อที่สองเรียกว่าหลัก กรุณา หลายคนไม่เข้าใจว่า กรุณาต่างจากเมตตาอย่างไร มีความแตกต่างดังนี้ครับ เมตตาคือความรู้สึกที่ดีต่อบุคคลสัตว์โดยทั่วไป จากใกล้ไปหาไกล แต่กรุณาคือความสงสารต้องการช่วยให้พ้นทุกข์ หมายถึงผู้ที่รับความกรุณานั้นเป็นผู้ที่มีทุกข์ มีความเดือดร้อนอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ก่อนแล้ว ความรู้สึกที่ต้องการช่วยเหลือในกรณีนี้ก็คือความสงสารครับ

ข้อที่สามเรียกว่าหลัก มุทิตา ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี ข้อนี้นับเป็นเรื่องพิสูจน์กำลังใจของเราได้เป็นอย่างดีว่าเป็นคนดีอยู่มากน้อยเพียงใด วัดตัวเราเองนะครับ อย่าไปวัดคนอื่นเข้า มิฉะนั้นท่านอาจเดือดร้อน ดูกำลังความดีของเราว่า เมื่อคนอื่นได้ดี เรามีความรู้สึกยินดีด้วยกับเขาหรือไม่ หากไม่ยินดีแล้วมีความรู้สึกอย่างไร เฉย ๆ ก็ยังพอเป็นผู้ใหญ่อยู่บ้างนะครับ หากมีความคิดว่า เฮ้ย มันเป็นไปได้อย่างไร (ว่ะ) ไอ้นี่มัน...(หาข้อไม่ดีใส่เข้าไปสามกระบุงโกย)” แสดงให้เราเองเห็นใจเราเองว่า ยังไม่เป็นผู้ใหญ่ ถึงตรงนี้ท่านคงพอจะคำนวณได้ว่าคนไทยเรามีคนที่เป็นผู้ใหญ่ประมาณกี่เปอร์เซ็นต์ หากท่านรู้สึกว่า เออ เขาได้ก็ดีแล้ว เขาทำความดีมามาก หรือหากคิดอะไรไม่ออกก็ว่า อ๋อเขาทำบุญไว้ดีแล้ว จึงได้ดีเช่นนี้ ดีใจด้วย น่าสงสัยนะครับว่าบ้านเราเมืองเราจะมีคนคิดอย่างนี้สักเท่าไร

ข้อที่สี่เรียกว่าหลัก อุเบกขา ความวางเฉยเมื่อผู้อื่นถึงความวิบัติ เป็นอีกข้อหนึ่งนะครับที่ทำให้ผมคิดเอาว่าสังคมเรามีเด็กและเยาวชนอยู่มากมายเหลือเกิน วันก่อนผมนั่งรับประทานก๋วยเตี๋ยว (ของโปรดท่านนายก) ริมถนน กับเพื่อน มีเสียงรถเบรคดังเอี๊ยดยาว และตามมาด้วยเสีย โครม แต่เปล่าครับ เสียงหลังนี่ไม่มาจากถนนหรอกครับ เสียงมาจากโต๊ะข้าง ๆ ที่ผมนั่งนั่นเอง เท่านั้นยังไม่พอนะครับ มีเสียงต่อว่าตามมาอีกว่า ว้า รอดไป อดดูของดีกัน เห็นผู้อื่นถึงความวิบัติทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ต้องรู้สึกเห็นอกเห็นใจ หรืออย่างน้อย ต้องรำลึกถึงกฏแห่งกรรมให้ได้ว่า แม้เราก็ต้องมีสถานะเช่นเขาได้สักวัน หากประมาทพลาดพลั้ง จะให้ดีขึ้นหรือเป็นผู้ใหญ่กว่านั้นก็ต้องพยายามช่วยเหลือ ในกรอบอันชอบธรรมนะครับ ช่วยเหลือแล้ว หรือช่วยไม่ได้แล้ว จึงถือหลักข้อนี้

นึกถึงหลักทางพระศาสนาข้อนี้เพราะเจ้าเด็กคนที่เรียกผมว่าตาแท้ ๆ หากว่าการเขียนบทความนี้จะมีประโยชน์ทำให้คุณผู้อ่านนึกสนุกและเห็นแนวทางในการพัฒนาตนตามหลักของพระศาสนา โดยการฝึกคุณธรรมทั้งสี่ข้อให้เกิดมีในตัวเองมากขึ้นแล้วละก้อ ผมขอมอบความดีความชอบให้เด็กคนนั้นทั้งหมดครับ
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น