บทความที่ได้รับความนิยม

วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เวลาที่ผ่านเลย

เวลาที่ผ่านเลย

โสภณ เปียสนิท
.........................................

                ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน ผมจำเป็นต้องขอเว้นวรรคการเล่าประสบการณ์ชีวิตในประเทศอินเดียไว้สักตอนหนึ่งก่อน เพราะครั้งหน้าที่ท่านจะได้อ่านบทความนี้ เป็นช่วงเวลาขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่งแล้ว

                สี่ทุ่มสี่สิบห้านาทีของคืนวันที่ 26 ธันวาคม 2545 ผมเพิ่งกลับจากการร่วมสังสรรค์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กับเพื่อนร่วมราชมงคลวังไกลกังวล พรุ่งนี้วันที่ 27 เป็นวันทำงานวันสุดท้ายของปี ต่อจากวันพรุ่งนี้ผมตั้งใจว่าจะพาครอบครัวเล็ก ๆ เดินทางกลับไปร่วมวันขึ้นปีใหม่กับแม่ผู้บังเกิดเกล้า ที่บ้านเกิดเมืองกาญจนบุรี อันเป็นภารกิจแห่งความกตัญญูรู้คุณที่ผมตั้งใจทำมาทุกปี อยากจะเขียนบทความเรื่องนี้ให้เสร็จในคืนนี้เพื่อส่งโรงพิมพ์ล่วงหน้า
                หากมีใคร ๆ ถามว่า ปีใหม่คนควรมีความคิดอย่างไรบ้าง หรือ ทำอย่างไรบ้าง ถึงจะถูกต้องดีงาม ท่านจะตอบคำถามนี้อย่างไร?

                มีผู้ที่ช่างคิด และสนใจในเรื่องของชีวิตคนหนึ่งได้ตั้งคำถามนี้กับผม ระหว่างการสนทนาในบ่ายวันหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ด้วยเหตุที่ไม่ได้คาดว่าจะได้รับคำถามเช่นนี้ในที่เฉพาะหน้า แม้จะมั่นใจว่าเป็นคำถามที่ตอบได้ไม่ยากโดยอิงอาศัยหลักการทางพระศาสนา แต่ในขณะนั้นผมอึ้ง นึกไม่ออกว่าจะตอบอย่างไรให้ได้ใจความที่ดีตามที่ใจอยากจะตอบ

                กลางดึกคืนนี้มีเวลาไตร่ตรองเรื่องนี้อีกครั้ง ผมมีเวลานานเท่าที่ต้องการ จึงขอเรียบเรียงความคิดออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อตอบคำถามของผู้ถามอีกครั้ง และให้คุณผู้อ่านได้รับรู้ บางทีอาจเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อแนวคิด วิถีทางแห่งการดำเนินชีวิต ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนทัศนะซึ่งกันและกัน


                อันที่จริงแล้ว วันเวลาเหมือนเส้นตรงที่ถูกขีดให้เดินทางไปข้างหน้าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด คนเก่าแก่อาศัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริง เห็นได้ด้วยตา มาเป็นตัวกำหนด จากหน่วยที่เล็กที่สุดไปจนถึงหน่วยที่ใหญ่ที่สุด เช่นการกำหนดวินาที นาที ชั่วโมง วัน สัปดาห์ เดือน ปี ทศวรรษ ศตวรรษ สหัสวรรษ ทสสหัสวรรษ (หมื่นปี) พื้นฐานน่าจะมาจากโลกหมุนรอบตัวเอง และหมุนรอบดวงอาทิตย์ เกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติมืดสว่างขึ้น สว่างสมมติเรียกกว่ากลางวัน มืดสมมติเรียกว่ากลางคืน

                สรรพสิ่งในโลกนี้คล้ายเป็นเรื่องสมมุติ และถูกผูกให้เป็นทาสของเวลา หรือมีเงื่อนไขร่วมกับเวลาอย่างแยกไม่ออก ชีวิตทุกชีวิตเหมือนเป็นภัสมธุลีในจักรวาลอันไพศาลถูกกำหนดให้กำเนิดขึ้น ดำรงอยู่ชั่วระยะหนึ่ง และล่วงลับดับหายไปในที่สุด เปรียบเทียบทางธรรมน่าจะได้แก่หลักของไตรลักษณ์ คือมีลักษณะ 3 ประการ ไม่ยั่งยืน แปรเปลี่ยน ยึดถือว่าเป็นของเขาของเราไม่ได้
                สมองของคนเป็นก้อนสีเทาอยู่ภายใต้กะโหลกด้านหน้า และตรงท้ายทอย มีการพัฒนาให้มีความรู้สึกนึกคิดได้อย่างซับซ้อนลึกซึ้ง ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานต่อเนื่อง ถึงบัดนี้จึงเกิดมีคำสอน สรรพวิทยาการต่าง ๆ อยู่มาก ต่างมีเป้าหมายมุ่งสั่งสอนให้รู้ และเข้าใจโลกและชีวิต ตามที่เป็นจริง เพียงแต่ว่าคำสั่งสอนเหล่านั้นถูกแบ่งแยกไปหลายแขนงยิบย่อย แต่หากจะแบ่งแยกเป็นกลุ่มใหญ่กันจริง ๆ แล้ว ก็จะมีสองกลุ่ม

                กลุ่มวิชาที่ศึกษาไว้เพื่อหาเลี้ยงชีพ เริ่มตั้งแต่การเรียนรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เพื่อให้เกิดทักษะความชำนาญสร้างสรรค์หรือแก้ปัญหาต่าง ๆ เพื่อการดำรงชีวิต เพื่อสนองความต้องการทางด้านอารมณ์อันไม่มีที่สิ้นสุด อันเป็นหน้าที่ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดต้องศึกษา เช่นต้นไม้ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่เรียนรู้ที่จะเอนตัวออกหนีร่มเงาเพื่อชูยอดให้พ้นเงา ลูกไก่เรียนรู้เรื่องการคุ้ยเขี่ยหากินจากแม่ไก่ เป็นต้น


                กลุ่มวิชาที่เกี่ยวกับการบำรุงเลี้ยงจิตใจ อันได้แก่คำสอนของศาสดาต่าง ๆ มุ่งเน้นแนวทางเข้าใจโลกเหมือนกับที่เป็นจริง เพื่อทำให้ความเป็นคนที่มีสมองพัฒนาแล้วต่างจากการเรียนรู้ของสัตว์อื่น ๆ การศึกษาของโลกปัจจุบันเน้นหนักทางด้านทักษะและวิชาการเพื่อการดำรงชีวิตและความสะดวกสบาย ละเลยกลุ่มวิชาที่สองไปมาก ทำให้ความสมดุลขององค์ความรู้เอนเอียง เป็นไปเพื่อการเบียดเบียน แย่งชิง แสวงหา กอบโกย บริโภค วัตถุนิยมมากยิ่งขึ้นตามลำดับ

                หันมากล่าวถึงคำถามว่าควรคิด หรือทำอย่างไรในปีใหม่ ผมขอกล่าวตามธรรมเนียมอันดีดังนี้

                เวลาเป็นสิ่งมีค่าผ่านแล้วไม่ย้อนคืน ดังนั้นวันคืนที่ผ่านไปเราควรใช้เวลาอย่างไรให้คุ้มกับการ เสียเวลา หลายครั้งผมเคยได้ยินคำพูดว่า เดินเล่นฆ่าเวลา นอนเล่นฆ่าเวลา คำพูดอย่างนี้อาจฟังดูแล้วเหมือนว่ากำลังรอสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญมากกว่า ส่วนการเดินก็ดี การนอนก็ดี ผู้กล่าวไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง ทางที่ถูกควรใช้เวลาทุกวินาทีให้เป็นประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

                ประโยชน์ที่ควรคำนึงมีสองด้าน คือประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ตนหมายถึงการพัฒนาตนเองทั้งด้านความรู้ความคิดและการหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต และต้องศึกษาหลักธรรมของศาสนาต่าง ๆ ประกอบไปด้วยเพื่อพัฒนาจิตใจให้เข้าถึงหลักธรรมเหล่านั้นอย่างแท้จริง
 

                การหาเลี้ยงชีพโดยสุจริตตามแนวทางแห่งพุทธมีองค์ประกอบ 4 ประการ คือ
1. มีความขยันขันแข็งในการประการอาชีพนั้นอย่างเต็มความสามารถ
2. หาทรัพย์มาแล้วต้องรู้จักรักษา ใช้พอสมควรแก่ฐานะ ไม่ฟุ่มเฟือยจนเกินไป ข้อนี้น่าจะเป็นข้อสำคัญที่สุดในปัจจุบัน อันเนื่องมาจากเป็นยุคแห่งความฟุ้งเฟ้อ การหาเงินได้มาด้วยความยากลำบาก ในขณะที่การใช้จ่ายได้ง่าย เพราะมีเครื่องอำนวยความสะดวกพร้อม แต่ก็ไม่ควรประหยัดเสียจนเดือดร้อน แบ่งส่วนหนึ่งเก็บออมไว้ใช้ในยามคับขัน
3. คบมิตรที่ดีมีปัญญา รู้อะไรเป็นโทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ และ
4. วางตนสมฐานะ หาทรัพย์ได้น้อยก็ใช้จ่ายแต่น้อย หาทรัพย์ได้มากก็แบ่งเก็บไว้เป็นทุนสำรองในวันที่ขาดแคลน

                ประโยชน์ผู้อื่นนั้น หมายถึงเมื่อดำรงชีพตามหลักทั้งสี่จนเกิดความมั่นคงโดยฐานะ พร้อมทั้งเรียนรู้แนวทางหลักธรรมมีความสงบในใจตามสมควรแก่วัยแล้ว ต้องช่วยเหลือผู้อื่นด้วยสติปัญญาตามความสามารถเท่าที่จะทำได้ ตามประสบการณ์ที่ได้ผ่านมาจริง

                สำหรับตัวผู้เขียนเอง ขอถือโอกาสนี้ตั้งปณิธานว่าจะดำเนินชีพโดยสุจริตตามแนวทางแห่งพระพุทธศาสนาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ โดยเริ่มต้นที่ตัวเองอย่างง่าย ๆ ตามลำดับแห่งหัวข้อธรรมที่พระสั่งสอนกันต่อมา


                ตั้งใจว่าจะปรับจิตใจให้ยินดีในการเสียสละ รู้จักการทำทาน เพื่อกำจัดความตระหนี่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการให้เพื่อสงเคราะห์ เช่นการให้ทรัพย์สินเงินทองแก่ผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า หรือให้เพื่อการบูชาคุณ เช่นการให้การสงเคราะห์ผู้มีพระคุณ บิดา มารดา สมณะชีพราหมณ์ ครูบาอาจารย์ หรือแม้แต่การให้ธรรมเป็นทานแก่ศิษย์หรือคนรู้จักที่มีธุลีในดวงตาน้อยพอจะรับฟังข้อคิดความเห็นของผมตามสมควร
                ให้ทรัพย์สินศฤงคาร เรียก “อามิสทาน” มีผลทำให้เรามีฐานะดี ใครอดอยากยากจน ทำงานหนักแล้วไม่ร่ำรวยสักที ก็น่าจะพิจารณาในหลักคำสอนนี้ และเร่งรีบดำเนินการแก้ไขตามหลักการนี้อย่างต่อเนื่องยาวนานจริงจัง

ให้ความรู้ เรียกว่า “วิทยาทาน” มีผลทำให้เป็นคนมีความรู้ความสามารถในด้านสรรพวิทยา ให้ธัมมะ เรียกว่า “ธรรมทาน” มีผลทำให้มีสติปัญญาควบทั้งทางโลกและทางธรรม พระสอนว่า “การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง” (สรรพทานัง ธัมมะทานัง ชิเนติ)

                ตั้งใจว่าจะรักษาศีลให้ครบ 5 ข้อ พยายามไม่ทำร้าย ไม่ฆ่าใคร ไม่ยินดีในของของใคร ไม่ผิดในกาม ไม่พูดเท็จ ไม่ดื่มของมึนเมา หรือ อย่างน้อยก็ค่อยๆ ลดลง

                ผมตั้งใจว่าจะนั่งสมาธิตามแนวทางแห่งหลวงพ่อวัดปากน้ำ (ข้อนี้ใครชอบแนวทางไหนก็ตามแต่ชอบนะครับ) ที่ผมได้ยึดถือปฏิบัติทีละนิดทีละหน่อยมาตั้งแต่ปี 2515 อย่างน้อยวันละ 10 นาที สวดมนต์โดยการสวดพระคาถาชินบัญชรอีกอย่างน้อยหนึ่งจบ พร้อมทั้งแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลทั่วสารทิศ

                ผมตั้งใจว่าจะฝึกเพื่อให้ตัวเองเป็นคนมีคุณธรรมอันดีงามต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น เช่นความอ่อนน้อมถ่อมตน มีความเมตตาเต็มอิ่มอยู่ในใจ มีความกตัญญูรู้คุณของผู้มีคุณ ให้อภัยผู้อื่นเสมอ มีความรักในความรู้มากยิ่งขึ้น ฯลฯ

                ความตั้งใจของผมเหล่านี้อาจจะตอบคำถามที่ตั้งไว้ข้างบนได้บ้าง แต่หากว่าคุณผู้อ่านยังมีความหวังความตั้งใจที่ดีกว่านี้ ผมก็ขอถือโอกาสนี้อนุโมทนาด้วย เพราะไหน ๆ ก็สูงอายุขึ้นอีกปีทั่วกันทุกคนอยู่แล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น