บทความที่ได้รับความนิยม

วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เยือนเชียงราย

เยือนเชียงราย

โสภณ เปียสนิท
......................


                ใบไม้ร่วงควงพลิ้วปลิวผล่อย ฝันเคลิ้มคล้อยเริ่มลอยตามลม ลมเหมันต์เหมือนมีมีดคม กรีดและคว้านอารมณ์ ผ่าอกตรมล้มตาย โอ้ อดีต หวีดวอนมา เรียกให้ข้า....” บทเพลง แม่สายก้องกังวานในใจผมรอบแล้วรอบเล่าด้วยความยินดี เมื่อผมได้รับทราบคำสั่งให้เดินทางไปร่วมงานสัมมนาที่จังหวัดเชียงรายระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 2 ธันวาคม 2544

จำได้ว่าผมฟังเพลงนี้ครั้งแรกเมื่อราวปีพุทธศักราช 2515 ขณะแอบไปนอนในป่าราบลุ่มริมฝั่งน้ำแควใหญ่ จังหวัดกาญจนบุรี หน้าร้อนปีนั้น ร้อนเสียจนชาวบ้านชาวเมืองอยู่ไม่สุข ผมเองนึกถึงภาพของมดไต่กระทะบนเตาไฟ การแอบไปนอนริมน้ำจึงเป็นการคลายร้อนที่ค่อนข้างฉลาดในความคิดของผม

                เดินท่อม ๆ มือซ้ายถือวิทยุ ใต้รักแร้มีเสื่อเก่า ๆ ติดอยู่อีกหนึ่งผืน มือขวาถือหนังสือที่ชอบอีกสองสามเล่มตระเวนหาที่เหมาะ ๆ เลือกได้ใต้ร่มไผ่ก่อใหญ่กอหนึ่ง พื้นดินทราย ใบไผ่หนาร่มรื่นดีมาก หลายใบเริ่มกลายเป็นสีเหลืองซีดประปราย ปัดกวาดปรับพื้นทรายแล้วปูเสื่อทับลงไปเป็นอันได้ที่ หมอนใบเล็กติดมากับเสื่อโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ลมเบาบางผ่านลำน้ำนำความชุ่มชื้นมาให้ เอนกายลงนอน เปิดวิทยุฟังนิยายคณะวิเชียร นีลิกานนท์ไปด้วย อ่านหนังสือไปด้วย ไม่นานนักผมเผลอหลับไป

                บ่ายแก่ ๆ ผมตื่นขึ้นเห็นแสงอาทิตย์ลอดใบไผ่แต้มทรายเป็นรูปร่างลวดลายแปลกตา ลมกลางฤดูร้อนโยกกอไผ่คล้ายเสียงเพลงแห่งป่า ใบไผ่เหลืองทยอยร่วงลงบนพื้นทราย หลายใบล่องลมเลยไกลหล่นลงในลำน้ำแคว กลายเป็นเรือลำจิ๋วล่องไปตามลำน้ำที่คดเคี้ยวยาวไกลจนสุดตา ทันใดนั้นบทเพลง แม่สายดังขึ้นโดยผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าชื่อเพลงอะไร ในใจผมขณะนั้นไม่รู้ว่าความไพเราะมาจากไหน ภาพใบไผ่ร่วงพลิกพริ้วค่อย ๆ ลอยลงในลำน้ำแควใหญ่ พร้อมกับเสียงเพลงประสานเสริม ช่างเป็นสุนทรียภาพและสุนทรียพจน์ที่อยู่ในความทรงจำของผมชนิดติดแน่นฝังลึกจนถึงวันนี้

                ตีสี่ครึ่งของวันที่ 29 พฤศจิกายน 2544 หลังการกราบไหว้บูชาพระรัตนตรัยตามหลักแห่งพุทธศาสนิกชนที่ดี ผมและคณะเริ่มออกเดินทางพร้อมด้วยกระเป๋าใบใหญ่คนละใบอัดแน่นด้วยเสื้อผ้ากันหนาว เนื่องจากทราบข้อมูลว่าอุณหภูมิที่เชียงรายอยู่ที่ 9 องศา รถแล่นผ่านเพชรบุรี กรุงเทพฯ อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ... ผมนั่งมองทัศนียภาพสองข้างทางด้วยความเป็นสุขอย่างเงียบ ๆ  ปล่อยความคิดลอยล่องไปตามที่ปรารถนาจะไป ภาพความเก่าแก่แห่งอารยธรรมที่เพชรบุรี ภาพแห่งความรุ่งเรืองของมหานครกรุงเทพฯ ภาพแห่งท้องนากว้างไกลสุดสายตา อันเปรียบเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โบสถ์เก่าแก่ วัดร้างกลางทุ่ง พระเจดีย์อิฐแดงยอดหักโค่น พระพุทธรูปเก่ากลางแจ้ง น้อมใจให้คำนึงถึงความรุ่งเรืองชีวิตและความเป็นอยู่แห่งบรรพบุรุษในยุคสี่ห้าร้อยปีที่ผ่านมา อ่างทองและสิงห์บุรีมีความคล้ายคลึงกับอยุธยาโดยภาพรวม

      จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์สองข้างทางส่วนมากเป็นที่ราบลุ่ม ชาวบ้านมีอาชีพทำเกษตรกรรม ผมมองเพลิดเพลินเรื่อยเปื่อยไม่มีความรู้สึกใดที่โดดเด่นเป็นพิเศษ ครั้นถึงมหานครลำปางหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเขลางค์นคร ผมนึกถึงรถม้า และพระภิกษุชราร่างผอมบางรูปหนึ่ง หลวงพ่อเกษม เขมโก มีเสียงร่ำลือถึงกิจวัตรที่ค่อนข้างแปลกอยู่เสมอ เช่นท่านไม่ติดในรสอาหารจนฉันข้าวบูดเน่าได้ ฉันน้อยมากจนบางครั้งท่านก็ไม่ฉันเสียเลย ท่านเก็บหนังสือพิมพ์เก่า ๆ ที่ตก ๆ หล่น ๆ มารวบรวมไว้ด้วยความเคารพ รักสันโดษ ชอบอยู่ป่าช้าเป็นประจำ ไม่ค่อยจะจำวัด มักจะนั่งหลับแบบกบ คือนั่งก้มหน้าแล้วหลับเพียงเล็กน้อย ท่านได้รับความเคารพนับถืออย่างกว้างขวาง จนได้รับสมญาว่าเทพเจ้าแห่งลำปาง ผมถือโอกาสชักชวนเพื่อนพ้องแวะกราบนมัสการอริยสงฆ์แห่งสุสานไตรลักษณ์เพื่อความเป็นสิริมงคล

       เลยลำปางผ่านเขตเมืองเชียงใหม่โดยไม่ได้ผ่านตัวเมือง รถแล่นบนเขาสูงสองข้างทางเป็นป่าเขา เส้นทางบางช่วงยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง นาน ๆ ทีจะมีรถแล่นสวนมาสักคัน ฝุ่นสีขาวปลิวคละคลุ้งขึ้นปกคลุมอาณาบริเวณกว้าง ดงสักสองข้างทางปกคลุมด้วยฝุ่นสีขาวตลอดทั้งลำต้น ดอก ใบ กลายร่างเป็นสักสายพันธุ์ใหม่ไปโดยปริยาย เข้าเขตอำเภอพานเมืองเชียงราย บางช่วงเป็นที่ราบลุ่มเชิงเขา ลาดลดหลั่นลงไปกินบริเวณกว้าง กลางพุ่มไม้ไพรพงเขียวขจีมีกลุ่มควันสีขาวลอยคว้างขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเป็นหย่อม ๆ จากแปลงกสิกรรม หรือไม่ก็ลอยผ่านหลังคากระท่อม บางช่วงเป็นป่าเขาสูงแหงนมองคอตั้งบ่า ผ่านสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตเชียงรายที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ตั้งตระหง่านอยู่ระหว่างซอกเขาด้านขวามือ เลยไปอีกนิดเห็นวัดร่องขุ่น วัดบ้านเกิดของคุณเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์อยู่ระหว่างการก่อสร้างพระอุโบสถอย่างวิจิตรอลังการตามจินตนาการของมหาศิลปินแห่งยุคสมัย

       เวลา 18.35 นาฬิกา การเดินทางสิ้นสุดลงที่โรงแรมวังคำ รวมเวลาเดินทาง 14 ชั่วโมง อากาศที่เชียงรายไม่หนาวเหมือนที่วาดฝัน ระหว่างว่างจากการสัมมนาเรามีโอกาสได้ขึ้นไปเยือนดอยตุง บ้านสมเด็จย่า ท่านต้อนรับคณะของเราด้วยสายพระเนตรตรงที่แฝงด้วยพระเมตตาปรานี จากปากคำของมัคคุเทศก์สาวทำให้ทราบว่าท่านทรงโปรดดอกเจอราเมียสีแดงที่ปลูกอยู่รอบพระตำหนัก สวนดอกไม้เมืองหนาวเบ่งบานและการจัดแต่งอย่างสวยงามทำให้ดูเหมือนว่าทั้งดอยเป็นดินแดนแห่งสรวงสวรรค์ พระธาตุดอยตุงมองเห็นอยู่ไกลลิบตาองค์เล็กนิด อาบแสงอาทิตย์ยามเช้าสะท้อนประกายเข้านัยน์ตาวิบวับ  เหมือนหนึ่งดังพระจุฬามณีแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ผมยกมือพนมหลับตาสำรวมจิตไหว้พระบรมสารีริกธาตุแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยความโสมนัสศรัทธา ตั้งจิตอธิษฐานน้อมบุญถวายบูชาพระคุณแห่งสมเด็จย่าในสัมปรายภพ

      มีโอกาสได้แวะเยี่ยม แม่สายแม่น้ำกั้นเขตแดนระหว่างไทยและเมียนม่า ภาพแห่งความเป็นจริงทำลายจินตนาการอันสวยงามของผมจนหมดสิ้น แม่สายในสายตาตามที่เป็นจริงพลุกพล่านด้วยฝูงชน ร้านค้าน้อยใหญ่เรียงรายแน่นขนัด ขอทานตัวเล็กตัวน้อยหน้าตาเนื้อตัวขะมุกขะมอมเดินเข้ามายื่นมือสลอน ผมเดินเยี่ยมชมและซื้อของฝากติดไม้ติดมือเล็กน้อยก่อนเดินทางกลับอย่างผิดหวัง

       เสร็จจาการสัมมนาในบ่ายวันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม เราเดินทางกลับโดยไม่เร่งรีบ เพียงแค่มีเป้าหมายในใจคร่าว ๆ ว่าต้องให้พ้นเส้นทางเปลี่ยวบนสันเขาระหว่างเชียงราย-ลำปางก่อนค่ำ และอาจแวะพักค้างแรมที่โรงแรมแห่งใดแห่งหนึ่งในจังหวัดตาก สองทุ่มเศษแวะพักค้างแรมที่โรงแรมเวียงตากสอง รับประทานอาหารค่ำและเดินชมสะพานแขวนเพื่อย่อยอาหาร เมื่อวนกลับถึงที่พักต่างหลับใหลด้วยความระโหยโรยแรง

   รุ่งเช้าหลังรับประทานอาหาร แปดนาฬิกาตรงการเดินทางเริ่มต้นอีกครั้ง เราต่างเป็นกัลยาณมิตรชักชวนกันแวะกราบนมัสการอริยสงฆ์ หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม ที่วัดอัมพวัน ถึงวัดขณะที่ท่านฉันภัตตาหารเพลพอดี ผมเดินขึ้นบนศาลาหอฉัน พบท่านนั่งสนทนาอยู่กับทายก ทายิกาผู้นำจตุปัจจัยไทยทานมาถวายจำนวนมาก ผมก้มกราบและร่วมกันถวายปัจจัยตามศรัทธา หลวงพ่อกล่าวอนุโมทนาและสอนเน้นการบริจาคทานด้วยคำว่า ยิ่งให้ยิ่งได้ท้ายที่สุดท่านอนุโมทนาเป็นภาษาบาลี และขอตัวไปต้อนรับคณะพระสงฆ์ที่เดินทางมาถึงวัด ก่อนจากท่านไม่ลืมขอให้เราทุกคนร่วมรับประทานอาหารก่อนกลับบ้าน

   เราจากวัดอัมพวันด้วยความรู้สึกอิ่มบุญ และมีโอกาสได้แวะกราบนมัสการสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ต้นตำรับพระคาถาชินบัญชรอันลือลั่น ที่วัดเกษไชโยอีกหนึ่งแห่ง ก่อนตรงกลับถึงวิทยาเขตราว ๆ 18.30 นาฬิกา รวมระยะการเดินทางครั้งนี้ราวหนึ่งพันกิโลเมตร
 

1 ความคิดเห็น:

  1. รู้สึกดีใจเสมอเมื่อกลับมาอ่านเรื่องราวที่บันทึกไว้
    เมื่อหลายปีที่ผ่านมา
    รวมเผ็นผลงานที่ทำ
    รวมเป็นชีวิตของคน
    หนึ่งคน

    ตอบลบ