บทความที่ได้รับความนิยม

วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554



พุทธทำนายความฝันของพระเจ้าปเสนทิโกศล (2)
โสภณ เปียสนิท
..............................................

          เย็นย่ำสนธยา ดวงตะวันลับยอดไม้ไปนานแล้ว สายลมหนาวที่บ้านสวนโสภณ โป่งแย้พัฒนาพัดผ่านหน้าบ้านลุงผ่อนจนฝุ่นปลิวเป็นครั้งคราว ลุงผ่อนขยับขาวม้าที่พาดไหล่มาห่อห่มร่างกาย ผมเองใส่เสื้อยืดแขนสั้นแม้รู้สึกหนาวเย็นแต่ยังพอทน  ควันไฟยังลอยเคว้งคว้างตามแรงลมโยกไปย้ายมาตามปกติ ข่าวคราวน้ำท่วมกรุงเทพฯ ดังแว่วมาจากวิทยุที่เปิดไว้หลังบ้าน เหมือนลุงให้ความสนใจข่าวสารบ้านเมืองเป็นระยะ

          เห็นลุงเงียบไปนาน จึงถามขึ้นขณะสายตามองแน่วนิ่งไปที่กองไฟ “แล้วข้อต่อไปเป็นอย่างไร” ลุงเหมือนอยู่ในภวังค์ เร่งรวบรวมความคิดให้กลับคืน “เอ..ถึงข้อไหนแล้ว” ลุงถามเอาแบบดื้อเพราะลืมว่าพูดไปถึงข้อไหน “ข้อ4 ครับลุง” ลุงยิ้มกว้าง ดีใจที่จับเรื่องราวได้แล้ว “ทรงสุบินว่าผู้คนไม่ใช้วัวตัวใหญ่ที่สมบูรณ์แข็งแรงเทียมแอกลากเกวียน กลับไปใช้โครุ่นๆ ที่ยังปราศจากกำลังมาลาก เมื่อมันลากเกวียนให้แล่นไมได้ มันก็สลัดแอกนั้นเสีย” “ใช้วัวตัวเล็กมันก็ลากไม่ไหวซิลุง” ผมนึกภาพเกวียนบรรทุกอ้อยของอินเดียที่บรรทุกอ้อยเสียเต็มท่วมหัวคนขับเกวียน “ลุงก็เห็นจริงอย่างเอ็งว่า” “แล้วพระพุทธองค์พยากรณ์ว่าอย่างไรครับ” “พระพุทธองค์ทรงทำนายว่า ในภายหน้า เมื่อผู้มีอำนาจไม่ตั้งอยู่ในธรรม แทนที่จะยกย่อง และ มอบหมายหน้าที่ให้กับผู้มีสติปัญญาความรู้ กลับไปมอบยศศักดิ์ให้กับคนหนุ่มที่อ่อนหัด ด้อยประสบการณ์ทำให้ปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ดี...”

นึกแล้วเห็นจริงตามพยากรณ์ ปีนี้2554 เลยกึ่งพุทธกาลมา 54 ปี บ้านเมืองของเรา มีเค้าลางของความเป็นจริงอยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย ในความคิดของคุณผู้อ่านเห็นเป็นอย่างไร ช่างน่าพิจารณายิ่งนัก “เอ็งเห็นเป็นอย่างไร” ลุงถามโดยผมไม่ทันตั้งตัว “คือ...มันมีเค้าของความเป็นจริงอยู่เหมือนกันนาลุง” ผมตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ “ตรงข้ามกับลุงเลย” ลุงทำหน้าไม่เห็นด้วย “ยังไงครับ” ผมทำหน้าไม่รู้เรื่อง “ดูข่าวการปกครองตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ไปจนถึงระดับสูงสุด ทะเลาะกัน ฆ่ากันตาย เพราะขัดผลประโยชน์ แบ่งพรรคแบ่งพวก นี่มันตรงเป๊ะเชียวนาเอ็ง” สีหน้ามั่นใจ

“ต่อข้อ5 เลยดีกว่าครับลุง” ผมเห็นจริงตามลุงว่า แต่อยากฟังข้อต่อไปมากกว่า “พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงฝันว่าเห็นม้าตัวหนึ่งมีปากสองข้าง ฝูงชนเอาหญ้าไปป้อนที่ปากทั้งสองข้าง มันก็กินทั้งสองข้าง” “ม้าสองปาก ไม่เคยเห็นนี่ครับ” “ข้าก็ไม่เคยเห็นเหมือนเอ็งว่านั่นแหละ แต่ได้ยินได้อ่านก็จากพระสูตรนี่แหละ” “แล้วคำพยากรณ์เล่าครับ” “พระองค์ทรงตอบว่า ในอนาคตเมื่อผู้บริหาร หรือ ผู้มีอำนาจไม่ดำรงอยู่ในธรรม ตั้งคนพาล หรือคนไม่มีศีลธรรมไว้ในตำแหน่งอันมีผลต่อผู้อื่น คนเหล่านั้นก็จะไม่นึกถึงบาปบุญคุณโทษ แต่จะตัดสินคดีต่างๆ ตามแต่ใจชอบ โดยเอาสินบนจากทั้งสองฝ่ายเป็นประมาณ” “ม้าสองปาก รับสินบนสองฝ่าย” ผมทบทวนเบาๆ คิดหาความเชื่อมโยง ลุงตอบมาทันที “ใช่ ม้ากินได้สองปาก คนที่อยู่ในวงการยุติธรรม รับเงินทั้งฝ่ายโจทย์และจำเลย” “อย่างนี้ก็ยุ่งซิลุง” “ก็ใช่นะซิ แล้วเอ็งเห็นว่าปัจจุบันเป็นไปตามนี้หรือไม่” ผมนิ่งคิด ไม่อยากตอบ ตามคติ “พูดไปสองไพเบี้ยนิ่งเสียตำลึงทอง” ทั้งที่ในใจคล้อยตามลุงไปหลายช่วงตัว


ลุงเห็นว่าผมครุ่นคิดนาน จึงกล่าวต่อ “ข้อที่ 6. ทรงฝันว่าฝูงชนเอาถาดทองราคาแพงไปให้หมาจิ้งจอกแก่ตัวหนึ่ง พร้อมเชื้อเชิญให้หมาจิ้งจอกตัวนั้นถ่ายปัสสาวะใส่ถาดทองนั้น” ผมฟังแล้วตื่นเต้นสนใจยิ่งขึ้น เพราะไม่เคยได้ยินเรื่องราวแบบนี้มาก่อนเลย ถาดทองภาชนะล้ำค่า หมาจิ้งจอกสัตว์เจ้าเล่ห์ในนิทานอีสป และ ปัสสาวะ ซึ่งเป็นกิริยาอาการที่ไม่สอดคล้องคู่ควรกับถาดทอง

“เล่าคำพยากรณ์ของพระพุทธองค์ต่อเลยครับ” ผมกระตือรือร้นสนใจต้องการฟัง “ทรงพยากรณ์ว่า ต่อไปคนดีมีสกุลทั้งหลายจะสิ้นอำนาจวาสนา คนตระกูลต่ำ หรือ คนพาลจะได้เป็นใหญ่เป็นโต และ คนมีตระกูลจะต้องยกลูกสาวให้แก่ผู้ไร้ตระกูลเหล่านั้น” เอาละซิ ยิ่งฟังยิ่งเข้ากับเหตุการณ์ ปัจจุบันของประเทศต่างๆ ทั่วโลก “หมายถึงคนดี กับคนมีสกุลหรือครับ” “ใช่” ลุงตอบคำเดียว ยังไม่ตรงกับคำถามที่ผมอยากถาม “คนดีเป็นอย่างไร” ผมถามตามน้ำตามเรื่องที่ต้องการรู้ “เอ็งถามได้ดี” ลุงกล่าวชม ดวงตาสีสนิมเพ่งมองกองไฟ ร่องรอยเหี่ยวย่นบนผิวสีคล้ำเกลื่อนกล่น “คนดีต้องมีเกณฑ์ในการตัดสิน ต้องคิดทำทานเสมอ มากบ้างน้อยบ้างตามแต่จะพึงมี อย่าให้ตัวเองเดือดร้อน” “ทำทานอย่างเดียวหรือครับ ที่จะเป็นคนดี” ผมตั้งข้อสงสัย “ยังไม่พอหรอก ต้องรักษาศีลเป็นปกติอีกอย่างน้อย 5 ข้อ” “หมั่นทำทานรักษาศีล” ผมทบทวนในใจ “และต้องสวดมนต์ภาวนาอีกหน่อย คราวนี้แหละครบแล้ว” แวบหนึ่งของความคิด คำถามหลุดตามทันที “ทำทานข้อเดียวยังไม่เป็นคนดีหรือครับ” “เป็นคนดีซิ เป็นคนดีข้อเดียวไง” ลุงตอบแบบขำๆ จนผมอดยิ้มไม่ได้ แต่ก็ได้แนวคิดว่า “ต้องเป็นคนดีต่อให้ครบสามข้อ”

“เพิ่งจะหกข้อเองครับลุง” ลุงยิ้มแบบรู้ทัน “ข้อ 7. ทรงฝันว่ามีชายคนหนึ่งนั่งฟั่นเชือก แล้วหย่อนไปในที่ใกล้เท้า แม่หมาจิ้งจอกโซตัวหนึ่งนอนอยู่ใต้ตั่งที่บุรุษนั้นนั่งอยู่ แล้วก็กัดกินเชือกนั้นโดยที่เขาไม่รู้ตัว” “อ้าว แล้วกัน อย่างนี้ฟั่นเชือกไป เชือกก็หมดไป” “ใช่ซี ลองคิดดูซิ เกี่ยวกับเรื่องอะไร” ลุงท้าทายให้ผมคิดไปข้างหน้า “ผมยังคิดไม่ออกครับ” ตอบหลังจากคิดแบบหวัดๆ ไปข้างหน้า ลุงเหมือนจะรู้ว่าผมไม่รู้เรื่องนี้แน่ จึงกล่าวต่อ “ทรงพยากรณ์ว่า ในกาลข้างหน้าผู้หญิงจะเหลาะแหละโลเล ลุ่มหลงในสุรา เอาแต่แต่งตัว เที่ยวเตร่ ประพฤติทุศีล แล้วนำทรัพย์ที่สามีหามาได้ด้วยความลำบากไปใช้ หรือให้ชายชู้...” “อย่างนี้คือเชือกที่ชายคนนั้นฟั่นแล้วหย่อนลงพื้น สุนัขกัดกินเชือกเส้นนั้น ฟั่นเท่าไรก็ไม่ยาวขึ้น” ผมพยายามทำความเข้าใจ ลุงพยักหน้าเห็นด้วย


                “ข้อต่อไปเล่าครับลุง” ผมจำข้อไม่ได้แล้ว ความจำหนอ ช่างไม่ยั่งยืนเสียเลย คงไม่เกี่ยวกับการอยู่บนโลกนี้มานานผ่านร้อนหนาวมาหลายหน “ข้อที่ 8. ทรงฝันว่ามีตุ่มน้ำเต็มเปี่ยมตุ่มหนึ่งวางอยู่ทรงประตูวัง แวดล้อมด้วยตุ่มว่างเป็นอันมาก แต่คนก็ยังไปตักน้ำใส่ตุ่มที่เต็มอยู่จนล้นแล้วล้นอีก โดยไม่เหลียวแลจะตักใส่ตุ่มที่ว่างๆ นั่นเลย” เอาอีกแล้ว ช่างมีความแปลกเชิงปริศนาให้คิดอยู่เสมอ “ตักน้ำใส่ตุ่มเต็ม แต่ไม่ใส่ตุ่มว่าง” แกล้งทบทวนเรื่องตามคำของลุง ชักนึกอายลุงที่ไม่อาจเดาได้ว่า ปริศนานี้หมายถึงสิ่งใด

                ลุงเหมือนรู้ใจจึงกล่าวต่อโดยไม่ถามผมให้ขายหน้าอีก “ทรงพยากรณ์ว่า ในอนาคต เมื่อศาสนาเสื่อม คนเป็นใหญ่มีอำนาจ จะเบียดเบียนหรือเอาเปรียบผู้ด้อยกว่า คนที่รวยอยู่แล้วก็จะมีคนจนหารายได้ไปส่งเสริมให้รวยยิ่งขึ้น” “เข้าใจครับ ตักน้ำใส่แต่ตุ่มเต็มจนล้น” “หมายถึงอะไร” ลุงแกล้งถามให้ผมตอบเสียบ้าง “คนรวยยิ่งรวยมากขึ้น เพราะคนจนเอาเงินไปให้เขาเอง” “หมายถึงว่า คนที่ยากจนเอาเงินไปให้คนรวยเอง ทั้งที่มีคนยากจน เหมือนตุ่มว่างอยู่มากมายแต่ไม่เติม” ใจยังนึกสงสัยว่า จะเป็นแบบนี้ได้อย่างไร

                ลุงเล่าติดลมแล้วจึงเล่าต่อไปเรื่อย “ข้อที่ 9. พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงฝันเห็นสระแห่งหนึ่ง มีบัวนานาชนิดขึ้นอยู่เต็ม และมีท่าขึ้นลงโดยรอบ สัตว์ต่างๆ พากันดื่มน้ำในสระ แต่แทนที่น้ำบริเวณที่สัตว์เหยียบย่ำจะขุ่น กลับใสสะอาด ส่วนน้ำที่อยู่ลึกกลางสระ ที่สัตว์ไม่ไปดื่มหรือเหยียบย่ำแทนที่จะใสกลับขุ่นข้น” “ช่างคิดช่างฝันจริงเชียวนะครับ” “แปลกดี เป็นปริศนาธรรม” ลุงมองว่าแปลกเหมือนผม “ที่จะขุ่นไม่ขุ่น แต่ไปขุ่นตรงที่ไม่ควรขุ่น” ผมพูดลอยๆ ตามความเข้าใจ

“คราวนี้ทรงพยากรณ์ว่าอย่างไรบ้างครับ” เป็นปริศนาธรรมที่ควรคิดอีกข้อหนึ่ง “พระองค์ทรงตรัสพยากรณ์ไว้ว่า ต่อไปเมื่อคนมีอำนาจไม่ตั้งอยู่ในธรรม ขาดเมตตา คอยใช้อำนาจ รีดนาทาเร้นหรือกินสิบบน ชาวบ้านชาวเมืองจะหนีไปอยู่ตามชายแดน หรือที่อื่นๆ ทำให้ที่นั้น ที่คนพากันไปอยู่มีความมั่นคงเป็นปึกแผ่น” “เรื่องนี้แปลกมาก คนจะหนีเมืองกรุงไปอยู่ชนบทแบบหลีกเร้น” “มันก็น่าจะจริงนะ” ลุงเชื่อตามคำพยากรณ์ของพระพุทธองค์ “เพราะอะไรครับ” ผมยังงุนงง “คนมีอำนาจไม่ตั้งอยู่ในธรรม ก่อความเดือดร้อน คนดีมีศีลธรรมเขาก็หนีซิ หลีกเร้นสู่ชนบทห่างไกล ที่ที่คนดีอยู่ไม่นานก็รุ่งเรืองร่มเย็น” ลุงให้เหตุผลจนผมคล้อยตาม

                “แต่ละข้อน่าศึกษานะครับ” ผมเกิดความรู้สึกว่า เป็นคำพยากรณ์ที่มีประโยชน์ เตือนใจคนในยุคกึ่งพุทธกาลได้บ้าง อย่างน้อยในกลุ่มคนที่มีอุปนิสัยในความดี “ใช่ ลุงค่อยๆ ศึกษาเรื่องนี้มานาน จนจำได้ และเข้าใจ” “แล้วข้อที่ 10 เป็นอย่างไรครับ” “ข้อที่10 พระราชาผู้เป็นใหญ่แห่งแคว้นโกศล ทรงฝันว่า เห็นข้าวที่คนหุงในหม้อใบเดียวกัน สุกไม่เท่ากัน โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ข้าวแฉะ ข้าวดิบ และข้าวสุก” “คนบ้านผมที่เมืองกาญจน์เรียกว่าข้าวสามกษัตริย์” ลุงฟังแล้วหัวเราะเบาๆ “อะไรของเอ็ง 3 กษัตริย์” “คนหุงเก่งมากเลยครับ หุงข้าวแบบนี้ยาก” ลุงฟังแล้วส่ายหน้า ไม่เห็นด้วย แล้วกล่าวต่อ “พระพุทธองค์พยากรณ์ว่า ในอนาคตเมื่อคนทั้งหลายไม่อยู่ในศีลในธรรมกันมากขึ้น ก็จะทำให้ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล หรือตกไม่ทั่วถึง” เป็นอีกข้อที่ผมฟังแล้วเกิดคำถามว่า คนไม่อยู่ในศีลธรรม สัมพันธ์กับฤดูกาลผิดปกติได้อย่างไร ลุงกล่าวต่อเหมือนรู้ว่าผมกำลังคิดอะไร “จิตของคนคิดอย่างไรได้อย่างนั้น คนจำนวนมากคิดแง่ลบ ทำให้บรรยากาศอบอวลไปด้วยเรื่องผิดศีลธรรม ฤดูกาลก็เปลี่ยนไป” ความสงสัยของผมยังคงอบอวลอยู่ในบรรยากาศไม่น้อย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น