บทความที่ได้รับความนิยม

วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2554

น้ำท่วมกรุงเทพฯกับพุทธทำนาย




น้ำท่วมกรุงเทพฯกับพุทธทำนาย
โสภณ เปียสนิท
..............................................

          ตุลาคม 2554 ข่าวน้ำท่วมประเทศไทยอยู่บนสื่อทุกประเภท เหมือนเป็นกระแสอันเชี่ยวกราก ที่กำลังไหลหลั่งจากเมืองเหนือ เช่นเมืองเชียงใหม่ ไหลมาลำปาง กำแพงเพชร นครสวรรค์ สิงห์บุรี ชัยนาท อยุธยา สุพรรณ ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ ท่วมทับทุกอย่างที่ขวางหน้า ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนที่คนสร้างขึ้น หรือสิ่งกีดขวางที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ น้ำไม่มีชีวิต ไม่มีความเมตตากรุณาในความรู้สึก คนสัตว์สิ่งของ เรือกสวนไร่นา บางส่วนจมอยู่ใต้ผิวน้ำอันเย็นเฉียบ บางส่วนลอยเท้งเต้งไปตามกระแสน้ำ โดยไม่มีใครรู้ว่าจุดหมายปลายทางอยู่ ณ ที่แห่งหนตำบลใด

                คำนึงถึงความทุกยากของส่ำสัตว์ที่มีมากอยู่ก่อนแล้ว น้ำท่วมจึงเพิ่มทุกข์อันไม่มีประมาณให้แก่ทุกชีวิต ชีวิตของผมและครอบครัวเล็กๆ วนเวียนอยู่บนแผ่นดิน เหมือนภัสมธุลีปลิวโปรยติดแน่นบนผิวโลกอันมีชื่อเรียกว่าว่าประเทศไทย ขณะที่เพื่อนร่วมประเทศ และร่วมโลกหลายแห่งประสบชะตากรรมน้ำท่วม เราอาศัยบนชั้นสอง ของอาคารราชการ 4 ชั้น แบบสงบสุขตามควรแก่อัตภาพ ส่งกระแสจิตแห่งความเมตตา และอามิสสิ่งของอันจำเป็นแด่ผองเพื่อนวันต่อวัน ตามกำลัง โชคดีที่หัวหินปีนี้ น้ำไม่ท่วม เพราะมีฝนน้อยถึงปานกลาง วันก่อนกลับไปเยี่ยมแม่ที่เมืองกาญจน์ แม่บอกว่า ฝนตกไม่มากนัก คงไม่ท่วมหรอก

                วันหยุดนี้ผมเดินทางไป “บ้านสวนโสภณ” บ้านน้อยในป่าปลูกที่หมู่บ้านโป่งแย้พัฒนา เพื่อค้างแรมคืนดูบ้าง หัวค่ำมีโอกาสพบเพื่อนบ้านใกล้เคียงจึงสนทนาเพื่อเพิ่มสัมพันธไมตรีอันดีของชุมชน ตามวิถีประชาที่ชาวชนบทดำเนินกันมาเนิ่นนาน “ลุงผ่อน” ย้ายบ้านมาจากจังหวัดเพชรบุรี มาอยู่บ้านตรงข้ามกับบ้านสวนโสภณนานกว่า 20 ปี เดินผ่านบ้านลุง ลุงเรียกกินข้าวค่ำด้วยกัน ผมยิ้มให้พร้อมปฏิเสธไปอย่างสุภาพ ด้วยเหตุผลอันหนาแน่นป้องกันลุงเข้าใจผิด ลุงชวนคุยเรื่องต้นไม้ใบหญ้าปลูกป่าเลี้ยงสัตว์อย่างน่าสนใจ เป็นอันว่าผมตกหลุมการสนทนาเข้าจนได้


                คิดว่าการสนทนาเรื่องเกษตรกรเป็นเรื่องน่าสนใจที่สุดสำหรับวันนี้ แต่กลับกลายเป็นว่า มีเรื่องอื่นที่น่าสนใจยิ่งกว่า เมื่อผมปรารภว่าคนเราสมัยนี้เหมือนว่าจิตใจต่ำลง ลุงผ่อนมีท่าทีกระตือรือร้นสนใจอยากพูดคุย “ลุงสังเกตเรื่องนี้มานานแล้ว มันต้องเป็นไปตามพุทธทำนายแน่นอน” คำของลุงกระตุ้นความสนใจของผมขึ้นมาบ้าง “หมายความว่าลุงรู้ว่าพระพุทธองค์เคยพยากรณ์เรื่องโลกมาแล้ว” ผมถามเพราะความอยากรู้มิใช่ต้องการลองภูมิ เหมือนลุงจะรอให้ถามอยู่แล้ว “ใช่ซิ มีอยู่ในคัมภีร์เทียวนา” ลุงยืนยันทำหน้าขึงขัง “หรือครับ เรื่องเป็นมาอย่างไรครับ” ผมพลอยตื่นเต้นไปด้วย

                ลุงผ่อนยิ้มแย้ม เพราะเห็นว่าผมให้ความสนใจเป็นพิเศษ “อยู่ในคัมภีร์พระสุตันตปิฏก ตอนที่พระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งแคว้นโกศล ทรงพระสุบินมากถึง 16 ข้อ โดยมีเนื้อเรื่องติดต่อเกี่ยวเนื่องกัน” ลุงเริ่มต้นอย่างน่าสนใจ “แสดงว่าพระราชาก็ฝันเป็นเหมือนชาวบ้าน” “อ้าว....พระราชาก็คนเหมือนเรานี่” ลุงพูดไปหัวเราะไป “ดีเลยครับลุง ผมอยากรู้ ช่วยเล่าให้ฟังหน่อย” ลุงขยับผ้าขาวม้าโบกไล่ยุงก่อนจะร้องเรียกหลานให้ก่อกองไฟใกล้ที่นั่งสนทนา เห็นภาพเด็กวิ่งเล่นหน้าบ้าน มีควันจากกองไฟไล่แมลงยามบ่ายจัดเช่นนี้ พาความคิดของย้อนกลับไปสู่วัยเยาว์สมัยวิ่งเล่นหน้าบ้านริมแม่น้ำแควกาญจนบุรี เนิ่นนานแล้ว

                “พระองค์ฝัน เอ้ย ทรงสุบินแล้ว นำมาเล่าให้โหราจารย์พฤฒาเฒ่าฟัง ผู้เฒ่าเหล่านั้นพยากรณ์ว่า เป็นลางร้ายของแผ่นดิน เมื่อพระองค์สอบถามเรื่องการแก้ไข ได้รับคำตอบว่า ให้ทำพิธีบูชามหายัญ” “บูชายัญ” ผมพยายามปรับให้คำพูดของลุงถูกต้องยิ่งขึ้น ลุงแย้งกลับอย่างรวดเร็ว “มหายัญนั่นถูกต้องแล้ว เพราะพระราชาทำทั้งทีต้องยิ่งใหญ่หน่อย” “จริงของลุง พระราชาคงไม่ทำแบบชาวบ้านธรรมดาแน่” ผมแค่นึกในใจโดยไม่ได้กล่าวต่อประเด็นนี้ “แล้วต้องทำอย่างไรครับ มหายัญ” “ก็ต้องฆ่าสัตว์อย่างละ 500 นั่นแหละ ไล่จากสัตว์เล็กไปหาสัตว์ใหญ่นานาชนิด ยิ่งฆ่าสัตว์มากยิ่งได้บุญมาก สามารถปรับเปลี่ยนชะตาบ้านเมืองให้ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน”

                ฟังคำของลุงแล้วความคิดเคลือบแคลงรู้สึกว่าขัดแย้งกับหลักของพุทธศาสนาที่ห้ามฆ่าและรังแกผู้อื่น ไม่ว่าคนหรือสัตว์ “แล้วเปลี่ยนชะตาบ้านเมืองได้จริงหรือเปล่าครับ” อยากนำมาใช้ในการเปลี่ยนชะตาบ้านเมืองของเราบ้าง หากแก้ไขได้จริง “เป็นความเชื่อของพราหมณ์เขา ไม่ใช่ความเชื่อแนวพุทธของเรา” ลุงแสดงภูมิพระพุทธศาสนาอย่างดี “แล้วแบบพุทธเชื่ออย่างไรครับ” ผมอดถามไม่ได้ เพราะต้องการให้ลุงได้แสดงความคิดเห็น “แบบพุทธต้องไม่ฆ่า ไม่รังแกสัตว์ แม้ตนเองก็ห้ามไม่ไห้รังแก แถมยังต้องมีเมตตาประกอบด้วย” ลุงกล่าวหลักการอย่างหนักแน่น เชื่อมั่นเต็มหัวใจ “แสดงว่าการฆ่าสัตว์บูชายัญไม่ใช่เส้นทางแห่งบุญ” ผมพยายามทบทวนเพื่อความเข้าใจแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น “ผิดจากหลักการของพุทธ”

                “สรุปว่า โหราจารย์ทั้งหลายเสนอให้พระเจ้าปเสนทิโกศลฆ่าสัตว์บูชายัญ แล้วพระองค์ทำอย่างไรครับ” ผมสรุปให้ลุง อยากฟังเรื่องต่อไป “เรื่องนี้ล่วงรู้ไปถึงพระนางมัลลิกาเทวี” “ใครครับพระนางองค์นี้” “อ่อ อนุมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล” ผมนิ่งคิดสักครู่ “เจ้าจอมหรือครับ” “ใช่ พระเทวีองค์นี้เป็นพุทธมามกะ นับถือพระพุทธองค์ เห็นว่าพระราชาอาจสร้างกรรมหนัก หากปฏิบัติตามคำของโหราจารย์ทั้งหลายจึงถวายคำแนะนำให้ไปเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อสอบถามปัญหานี้ต่อหน้าพระพักตร์” ลุงเล่าไปใช้คำราชาศัพท์อย่างถูกต้องจนผมอดแปลกใจไม่ได้ว่า เหตุใดลุงอยู่ในชนบทห่างไกลจึงใช้คำราชาศัพท์ได้อย่างถูกต้อง “ลุงจำคำราชาศัพท์ได้เก่งจังครับ” ลุงยิ้มน้อยยิ้มใหญ่สักครู่จึงตอบว่า “ลุงเป็นพระเอกลิเกเก่ามานานกว่า 20 ปี” “อ๋อ เล่นลิเกก็ดีอย่างนี้นี่เอง” สรรพวิทยาการต่างๆ ล้วนมีค่า หากว่าเรารู้จักนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในช่วงเวลาที่เหมาะสม

                 “พระเจ้าอะไรนะลุง” ผมจำชื่อพระราชาไม่ได้ “ปเสนทิโกศล” ลุงตอบแบบไม่ต้องคิด “ใช่ครับ แหม ติดอยู่ที่ริมฝีปากนี่เอง” ผมกล่าวแก้เก้อที่ความจำสู้คนแก่ไม่ได้ “อ้าว อย่างนั้นหรือ มองไม่เห็นเลย เห็นแต่หนวดติดริมฝีปาก” ลุงว่าเข้านั่น ทำหน้าล่อเล่นเห็นอารมณ์ขัน “พระองค์ไปพบพระพุทธองค์หรือเปล่าครับ” ผมถามเข้าเรื่อง “ไปซี เพราะพระองค์มีพระทัยชื่นชมพระนางมัลลิกาเป็นพิเศษอยู่ก่อนแล้ว” ลุงอ้างเอาความรักความพอใจส่วนพระองค์เป็นเหตุผลประกอบ “เรื่องเป็นอย่างไรต่อครับ” ผมเริ่มใจร้อน ขณะควันจากกองไฟเปลือกมะพร้าวถูกลมหอบมาทางวงสนทนา เด็กๆ หลายคนนั่งเล่นบนที่นั่งใต้ต้นมะยมอีกมุมหนึ่งของบ้าน

                “พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปเฝ้าพระพุทธองค์ที่วัดพระเชตะวันมหาวิหาร ตามที่พระนางมัลลิกาถวายคำแนะนำ” “ได้พบพระพุทธองค์หรือเปล่าครับ” “พบซิ จึงเล่าถึงพระสุบินนิมิตแปลกๆ ให้พระพุทธองค์ทรงสดับทีละข้อ” ชักจะถึงตอนสำคัญ ลุงอ้อมไปอ้อมมาจนผมอยากรู้มากขึ้น “คืออย่างไรบ้างครับลุง” “เอ็งตั้งใจฟังให้ดี ปัจจุบันคนรู้เรื่องนี้มีน้อย” เหมือนลุงจะเกรงว่าผมอาจให้ความสำคัญน้อยเกิน “เพราะเหตุใดครับ” “มีคนส่วนน้อย ที่สนใจเรื่องราวทางศาสนา” “งั้นลุงเล่าต่อเลย ผมจะได้จำ” “เออนะ ไม่ต้องเร่ง ได้ฟังแน่” ลุงวาดลวดลายเสียจนผมงง

                “พระเจ้าปเสนทิโกศลสุบินในข้อที่ 1 ว่า มีโคตัวผู้สีเหมือนดอกอัญชัญ 4 ตัว พากันวิ่งจาก 4 ทิศมาสู่ท้องพระลานหลวง ฝูงชนต่างรอดูโคทั้งสี่ที่ส่งเสียงคำรามลั่นเหมือนจะชนกัน แต่แล้วต่างก็ถอยออกไปไม่ชนกัน” สมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทำนายว่าในอนาคตในชั่วศาสนาของพระองค์เมื่อโลกหมุนไปถึงจุดที่เสื่อมลง มนุษย์ไม่ตั้งอยู่ในศีลในธรรม ฝนฟ้าจักแล้ง ทุพภิกขภัยจักเกิดขึ้น...” “แล้วที่ว่าโคส่งเสียงคำรามนั่นเล่าครับ” “จะมีเสียงฟ้าร้อง ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า แต่ฝนฟ้าไม่ตก เหมือนโคที่ร้องคำราม แต่ว่าไม่ชนกัน”

ลุงเล่าเรื่องทำหน้าตื่นเต้น ใจหนึ่งก็คิดว่า เรื่องเหล่านี้มีอยู่จริงในคัมภีร์หรือไม่ หรือว่าลุงไปจำเรื่องเล่าของคนโบราณ ที่เล่าสืบต่อกันมา “แล้วข้อที่2 เล่าครับ” ผมถามเรื่อยในยามที่ลุงหยุด “สุบินว่าต้นไม้เล็กๆ และกอไผ่ที่โตเพียงคืบบ้าง ศอกบ้าง ออกดอกออกผลแล้ว” สมเด็จพระประทีปแก้ว ทรงทำนายว่าต่อไปเมื่อโลกเสื่อม มนุษย์แม้จะมีอายุเยาว์มีวัยยังไม่สมบูรณ์ก็จะมีราคะกล้า และสมสู่กันตั้งแต่อายุยังน้อย และจะมีลูกแต่เด็กๆ เหมือนต้นไม้เล็กๆ แต่ก็มีผลแล้ว” เรื่องแบบนี้ถ้าเขียนไว้ในสมัยไม่นานมานี้ก็ไม่น่าอัศจรรย์ใจ แต่หากบันทึกไว้เกือบ 2500 ปีที่ผ่านมา ถือว่าน่านับถือ

ลุงหยุดเล่า ใช่ผ้าขาวม้าโบกสะบัดไล่แมลง และควันไฟในคราวเดียวกัน “น่าสนใจมากครับลุง ข้อที่3 ว่าอย่างไร” “ทรงฝันว่า เห็นแม่โคใหญ่ๆ พากันดื่มนมของฝูงลูกโคที่เพิ่งเกิด” พระผู้ทรงเป็นเลิศในโลกพยากรณ์ว่า ต่อไปในอนาคตการเคารพนบนอบผู้ใหญ่เช่นพ่อแม่ครูบาอาจารย์จะเสื่อมถอย คนเฒ่าคนแก่พ่อแม่ เมื่อหมดที่พึ่งหาเลี้ยงตนไม่ได้ก็ต้องง้อ ต้องประจบเด็ก” หรือว่าจะต้องเป็นเช่นนั้นจริงๆ ดวงตะวันอันเปรียบเสมือนดวงตาของโลกหรี่แสงลงด้านทิศตะวันตก เงาไม้น้อยใหญ่ทาบทับลานหน้าบ้านของลุงผ่อน ม่านแห่งราตรีสีคล้ำค่อยคืบคลานครอบครองบรรยากาศ เสียงนกกากู่ก้องร้องดังเหมือนดังชักชวนกันกลับรวงรัง

(โปรดติดตาม)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น